ช่างไฟฟ้าประจำโรงงาน

ดร.ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

สืบเนื่องจากการที่ผู้เขียนมีโอกาสไปฝึกอบรมข้อกำหนด ISO 14001:2015 และ OHSAS 18001:2007 ประกอบกับการบรรยายเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับข้อกำหนดใหม่ ISO 14001:2015 ทั้งที่เป็น in-house training และ public training ปรากฏว่ามีผู้เข้าเรียนหลายท่านสอบถามเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับช่างไฟฟ้าประจำโรงงาน ทำให้ผู้เขียนต้องอธิบายให้กระจ่างว่าประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดสาขาอาชีพ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ กับกฎหมายเกี่ยวกับประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า สำหรับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์แตกต่างกัน และต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามรายละเอียดแตกต่างกัน

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอสรุปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรงงานที่มีช่างไฟฟ้าประจำโรงงาน จะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1.       ตามพระราชบัญญัติ ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๗ (๒) กำหนดสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงาน ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ทั้งนี้ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เว้นแต่สาขาอาชีพ ตำแหน่งงานหรือลักษณะงานใดที่มีองค์กรตามกฎหมายควบคุมแล้ว ให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น”  โดยมาตรานี้ทำให้ผู้ปฏิบัติงานในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ต้องได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ตาม มาตรา๒๖/๓  ที่กำหนดว่า “ผู้ปฏิบัติงานในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงานหรือลักษณะงานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๗ (๒) ต้องได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๑๐”

2.       ดังนั้น ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดสาขาอาชีพ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ จึงกำหนดให้ สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เฉพาะสาขาช่างไฟฟ้า ภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรอง ความรู้ความสามารถตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน  โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๘) นั่นหมายความว่าวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙  ช่างไฟฟ้าจะต้องมีหนังสือรับรองความสามารถทุกคน  โดยหนังสือรับรองความสามารถมีอายุ ๓ ปีครับ

3.       ประเด็นต่อมา ใครจะเป็นผู้รับรองความสามารถ  ตามมาตรา ๒๖/๔ ให้มีศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ดังต่อไปนี้ (๑) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง และ(๒) องค์กรอาชีพหรือหน่วยงานของรัฐตามประเภทที่คณะกรรมการประกาศกำหนดที่ได้รับการรับรองจากนายทะเบียนให้เป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ 

4.       คำถามต่อไป คือถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะเกิดอะไรขึ้น  ตามพรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๗  มาตรา ๕๓/๑ บัญญัติให้ลงโทษช่างไฟฟ้าที่ไม่ผ่านการรับรองความสามารถต้องโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท  ส่วนผู้จ้างงานผู้ที่ไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ต้องโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท 

5.       สำหรับประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า สำหรับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ประกาศบังคับใช้แล้ว โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างจัดฝึกอบรมให้กับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าเข้ารับการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า  แต่ถ้านายจ้างจัดอบรมเองภายในไม่ได้ ก็สามารถจัดหาผู้ที่ขึ้นทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แล้วแต่กรณี เป็นผู้ดำเนินการแทนได้ แต่ประเด็นสำคัญคือวิทยากรผู้ฝึกอบรมจะต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๕ หมวด ๓ วิทยากรฝึกอบรม  ซึ่งในกรณีนี้ ผู้เขียนขอย้ำว่า ถ้าโรงงานจะส่งช่างไฟฟ้าไปอบรมภายนอก ให้ร้องขอหลักฐานแสดงคุณสมบัติของวิทยากรให้สอดคล้องตามข้อ ๕ หมวด ๓ วิทยากรฝึกอบรม  ดังกล่าวด้วยครับ

6.       นอกจากนี้ยังจะต้องพิจารณาเนื้อหาการฝึกอบรม ข้อ ๓ การฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าให้กับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ต้องมีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง และอย่างน้อยต้องมีหัวข้อวิชาดังต่อไปนี้

(๑) กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า
(๒) สาเหตุและการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า และอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
(๓) การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้า และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ในกรณีที่มีการปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงจากลักษณะงานอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น การทำงานในที่สูง การทำงานในบริเวณที่อาจเป็นอันตราย นายจ้างอาจจัดให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมและหัวข้อวิชาที่เกี่ยวกับความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มเติมจากหัวข้อวิชาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง

7.        หลังจากฝึกอบรมเสร็จสิ้น ให้ให้นายจ้างจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม วัน เวลาที่ฝึกอบรมพร้อมรายชื่อวิทยากรเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้างพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้ตลอดเวลา และให้แจ้งทะเบียนรายชื่อผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม วัน เวลาที่ฝึกอบรมพร้อมรายชื่อวิทยากรต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในเขตพื้นที่รับผิดชอบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการฝึกอบรม

8.       ประเด็นคำถาม คือ ใครเป็นลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า เพราะผู้เขียนได้รับความเห็นจากวิทยากรบางท่านให้หมายรวมถึงผู้ปฏิบัติงานควบคุมเครื่องจักรทุกคนด้วย ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วย แต่ควรจะเป็นช่างซ่อมบำรุงที่ทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้ามากกว่า ตามคำนิยาม “ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า” หมายความว่า ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา หรือหน้าที่อื่นในลักษณะเดียวกัน กับระบบไฟฟ้า บริภัณฑ์ไฟฟ้า หรือสายไฟฟ้า

9.       ถ้านายจ้างไม่ปฏิบัติตาม จะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา ๕๓ แห่งพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔

บทสรุปของบทความนี้ ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจะต้องจัดการฝึกอบรมลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าก่อน ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า สำหรับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า  และถ้ามีช่างไฟฟ้าประจำโรงงานให้ส่งไปทดสอบรับรองความสามารถที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถที่น่าจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานนั่นเอง

*****End of Article******

ผู้ชม 11,498 วันที่ 03 กรกฎาคม 2559