แนวปฏิบัติการจัดทำและยื่นเอกสารสอ.1 แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย

 

ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล, Ph.D

[email protected], [email protected]

ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย ซึงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 ธค. พศ.2556 ที่ผ่านมา ระบุให้ผู้ประกอบการที่มีสารเคมีอันตรายบางจำพวกที่ผลิตหรือมีไว้ในครอบครองต้องยื่นแบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย (สอ.1) แบบใหม่ ที่ต้องลงข้อมูลรายละเอียดรวม 16 รายการ

ประเด็นสำคัญคือผู้ประกอบการหลายท่านไม่ทราบว่าการส่งรายงาน สอ.1 แบบใหม่มีกรอบเวลาในการดำเนินงานด้วยนะครับ กล่าวคือ จะต้องส่งแบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย (สอ.1) ภายในเดือนมกราคม ของทุกปีและต้องจัดทำแบบสอ. 1 พร้อมแจ้งให้สวัสดิการจังหวัดภายใน 7 วัน ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖ ข้อ ๒ “ให้นายจ้างที่มีสารเคมีอันตรายอยู่ในครอบครองจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตรายตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด พร้อมทั้งแจ้งต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีสารเคมีอันตรายอยู่ในครอบครอง

ภายในเดือนมกราคมของทุกปี ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย และรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตรายที่ตนมีอยู่ในครอบครองต่ออธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายด้วย”

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติสำหรับการจัดทำและการยื่นเอกสารสอ.1 ดังต่อไปนี้

1.            กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖ ให้นิยามของสารเคมีอันตรายว่า “หมายถึง ธาตุ สารประกอบ หรือสารผสม ตามบัญชีรายชื่อที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเส้นใย ฝุ่น ละออง ไอ หรือฟูม ที่มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างรวมกัน ดังต่อไปนี้

(๑) มีพิษ กัดกร่อน ระคายเคือง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ การก่อมะเร็ง การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือสุขภาพอนามัย หรือทำให้ถึงแก่ความตาย

(๒) เป็นตัวทำปฏิกิริยาที่รุนแรง เป็นตัวเพิ่มออกซิเจนหรือไวไฟ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระเบิดหรือไฟไหม้”

เมื่ออ่านจากคำนิยามดังกล่าว จึงทำให้เราต้องกลับไปศึกษาเพิ่มเติมเอกสาร SDS (Safety Data Sheet) เพิ่มเติม โดยสามารถขอเอกสารจากผู้ขายสารเคมีอันตรายให้เราได้ครับ

2.            เมื่อเราศึกษาเอกสาร SDS แล้ว ก็ให้ไปเทียบเคียงกับรายชื่อสารเคมีอันตรายที่ระบุในประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง บัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย รวม 1516 รายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เขียนแนะนำให้อ้างอิง CAS Number และสูตรโครงสร้าง เป็นหลัก  ที่สำคัญคือ ไม่ใช่เพียงแค่สารเดี่ยวที่ระบุในบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายเท่านั้น แต่ให้หมายรวมไปถึงสารผสมด้วย เพราะในรายการที่ 1516 ระบุว่า “สารอื่นที่มีสารเคมีอันตรายข้างต้นเป็นองค์ประกอบ” ด้วยเหตุนี้ สารเคมีอันตรายใดๆที่ใช้ในสถานประกอบการแทบทุกตัวจะต้องยื่นเอกสารสอ.1 ครับ

3.            สำหรับแหล่งข้อมูลอื่นๆ (Other information) ในข้อ 16 ของแบบสอ.1 ใหม่นั้น ผู้เขียนแนะนำให้ไปสืบค้นและอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อาทิเช่น

·         ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา  http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_3_003c.asp?info_id=118

·         ศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์ กรมควบคุมมลพิษ  http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_3_003c.asp?info_id=118

·         สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_3_003c.asp?info_id=118

เป็นต้น

4.            จากรายละเอียดในแบบสอ.1 และเอกสาร SDS รวมถึงสื่อสัญญลักษณ์ตามแบบ NFPA หรือ IMO หรือ GHS จะต้องมีการฝึกอบรมและสื่อสารให้กับพนักงานเข้าใจด้วย ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ระบุว่า “ข้อ ๓ ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างทราบและอธิบายให้ลูกจ้างเข้าใจข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตรายที่อยู่ในครอบครองของนายจ้าง ข้อความและเครื่องหมายต่าง ๆ ที่ปรากฏในเอกสารคู่มือ ฉลาก ป้าย หรือข่าวสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้

ข้อ ๔ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายทราบและเข้าใจวิธีการในการทำงานที่ถูกต้องและปลอดภัย รวมทั้งต้องจัดให้มีมาตรการควบคุมลูกจ้างให้ปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวในการนี้ให้นายจ้างจัดทำคู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติและขั้นตอนในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย คำแนะนำลูกจ้างเกี่ยวกับการป้องกันอันตราย ความหมายของข้อมูลที่มีบนฉลากและเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย

5.            ผู้เขียนขอย้ำว่าหากมีสารเคมีอันตรายใหม่ที่นำเข้ามาใช้ในสถานประกอบการ จะต้องจัดทำเอกสาร สอ. 1 ใหม่และยื่นให้สวัสดิการฯภายใน 7 วันด้วยนะครับ ประเด็นคำถามก็คือว่า ถ้านำสารเคมีอันตรายใหม่ โดยมีปริมาณเพียงเล็กน้อย ซึ่งสามารถนำมาใช้แล้วหมดไปภายในเวลาไม่นาน และนำเข้ามาทดลองใช้จะต้องยื่นสอ.1 ด้วยหรือไม่ ผู้เขียนมีความเห็นว่า หากสารเคมีอันตรายที่นำมาทดลองใช้ดังกล่าว มีปริมาณไม่มากและใช้ให้หมดไปภายในเวลาไม่นาน ก็ไม่น่าจะต้องจัดทำสอ.1 ภายใน 7 วันครับ แต่หากใช้ไม่หมดและเหลือเก็บไว้ภายในสถานประกอบการ ไม่ว่าจะเหลือน้อยเพียงใดก็จะต้องจัดทำและยื่นเอกสารสอ.1 ด้วยครับ เพราะผู้เขียนเห็นว่า เป็นไปตามคำนิยาม ครอบครองหมายความว่า การมีไว้เพื่อตนเองหรือผู้อื่นไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย ขนส่ง ใช้หรือเพื่อประการอื่นใด และรวมถึงการทิ้งไว้ หรือปรากฏอยู่ในบริเวณที่ครอบครองด้วย

ในท้ายสุด จากประสบการณ์ของผู้เขียนเห็นว่า สถานประกอบการหลายแห่งมักจะมอบหมายให้จป.หรือพนักงานท่านใดท่านหนึ่งรับผิดชอบการจัดทำเอกสารสอ. 1 ซึ่งโดยมาก มักจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะสารเคมีอันตรายแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติและอันตรายแตกต่างกัน หากท่านมีสารเคมีอันตรายไม่มากนัก คงไม่ยากลำบากจนเกินไป แต่หากมีชนิดสารเคมีอันตรายจำนวนมาก คงต้องมีคณะทำงานแบ่งปันการทำงานกันไปน่าจะเหมาะสมกว่านะครับ

สำหรับองค์กรที่มีขนาดเล็ก ไม่มีบุคลากรเพียงพอ ผู้เขียนแนะนำให้ขอแบบ สอ.1 หรือเอกสาร SDS ฉบับภาษาไทยจากผู้ขาย เพื่อนำมาปรับปรุงให้เป็นเอกสารสอ.1 ของเราก็ได้ครับ อย่าลืมว่าทุกครั้งที่มีการร้องขอสารเคมีอันตรายตัวใหม่ ต้องกำชับฝ่ายจัดซื้อหรือหน่วยงานอื่นที่เรียกสารเคมีอันตรายดังกล่าวเข้ามาให้ส่งเอกสาร SDS ฉบับภาษาไทยมาด้วยทุกครั้งครับ


*****End of Article*****

 

ผู้ชม 4,728 วันที่ 22 มกราคม 2557