การกำจัดของเสียที่ติดไฟได้ง่าย ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๕๕

 

ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

 

จากกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๕๕ ของกระทรวงแรงงานฯ ในหมวด 6 การกำจัดของเสียที่ติดไฟได้ง่าย มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

1.       ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีการทำความสะอาดเพื่อมิให้มีการสะสมหรือตกค้างของของเสียที่ติดไฟได้ง่าย

ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าวันละหนึ่งครั้ง ถ้าเป็นงานกะต้องไม่น้อยกว่ากะละหนึ่งครั้ง เว้นแต่วัตถุไวไฟหรือวัตถุระเบิดที่ลุกไหม้ได้เอง ต้องจัดให้มีการทำความสะอาดทันที  แล้วนำไปเก็บไว้ในภาชนะปิดที่เป็นโลหะ โดยทั่วไปจะเป็นถังโลหะขนาด 200 ลิตรครับ  แล้วจำเป็นต้องมีบันทึกการทำความสะอาดหรือไม่ ในประเด็นนี้ ผู้เขียนคิดว่า ไม่จำเป็นครับ กฎหมายก็ไม่ได้ระบุให้ต้องทำเอกสารครับ เพราะเราสามารถเห็นได้จากประจักษ์หลักฐานการทำความสะอาด เช่น ถังกักเก็บ, ปริมาณของเสียที่ติดไฟได้ง่าย เป็นต้น หากคิดแต่จะทำเอกสารเพื่อเป็นบันทึกก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการเสียเวลาที่ไม่คุ้มค่า

2.       ผู้เขียนแนะนำให้ผู้ประกอบการนำของเสียที่ติดไฟได้ง่ายไปจัดเก็บนอกอาคารโรงงานหรือสถานประกอบการ ย่อมมีความปลอดภัยกว่าครับ

3.       ส่วนการกำจัดนั้น หากเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ผู้เขียนขอขีดเส้นใต้ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม   เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 อย่างเคร่งครัดครับ ถึงแม้ว่า กฎกระทรวงฯ จะอนุญาตให้ผู้ประกอบการกำจัดของเสียที่ติดไฟได้ง่ายโดยวิธีการที่ปลอดภัย เช่น การเผา การฝัง การใช้สารเคมี เพื่อให้ของเสียนั้นสลายตัว หรือโดยวิธีอื่นที่มีประสิทธิภาพ แล้วแต่กรณี อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ก็ตาม แต่ไม่อาจลบล้างสภาพบังคับตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯดังกล่าวได้

4.       หากผู้ประกอบการนำของเสียไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาที่ออกแบบสาหรับการเผาโดยเฉพาะ ผู้ประกอบการจะต้องตรวจคุณภาพอากาศจากเตาเผาโดยมีสารมลพิษอยู่ 9 รายการที่ต้องตรวจวัดตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดปริมาณสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากปล่องเตาเผาสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุ ที่ไม่ใช้แล้วที่เป็นอันตรายจากอุตสาหกรรม พ.ศ. 2545 และ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผามูลฝอย พศ.2553
ประเด็นสำคัญ คือ 1 ใน 9 รายการของสารมลพิษที่ต้องตรวจวัดนั้น คือ สารประกอบไดออกซิน (PCDD/PCDFs) ถามว่ามีหน่วยงานวิเคราะห์ใดในเมืองไทยที่สามารถตรวจวัดและวิเคราะห์สาร ประกอบไดออกซินได้บ้าง ให้สอบถามไปยังกรมควบคุมมลพิษและกรมวิทยาศาสตร์บริการ หรือ หน่วยงานวิเคราะห์ (Lab) เอกชนเลยครับ ว่าประสงค์จะตรวจวัดสารประกอบไดออกซิน จะตรวจวัดได้หรือไม่ และมีค่าใช้จ่ายเท่าไร

5.       แต่หากผู้ประกอบการจะกำจัดด้วยการเผาในที่โล่งแจ้งโดยให้ห่างจากบริเวณที่ลูกจ้างทำงานในระยะที่ปลอดภัยและอยู่ใต้ลมตามกฎกระทรวงฯนั้น  ท่านอาจจะถูกชาวบ้านหรือโรงงานข้างเคียงอ้างเหตุตามมาตรา 25 เหตุรำคาญ คือ การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ มาตรา 80 ผู้ดำเนินกิจการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 5,000บาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง แห่งพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ไปฟ้องร้องโรงงานของท่านก็ได้ นอกจากนี้ มาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตัวเองจนน่าเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือ ทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท

6.       ไม่ใช่เฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่อยู่ในข่ายกฎหมายดังกล่าว แต่ให้รวมถึงสถานประกอบการทุกแห่งที่คิดจะมีเตาเผาขยะภายในด้วยครับ ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผามูลฝอย พศ.2553, พรบ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา ได้เช่นกัน

7.       เช่นเดียวกัน หากผู้ประกอบการจะนำของเสียที่ติดไฟได้ง่ายไปฝังกลบ หรือใช้สารเคมี ถือว่าเป็นการกระทำให้เกิดมลพิษปนเปื้อนลงสู่ดิน ดังนั้น การฝังกลบของเสียเองภายในบริเวณโรงงาน โรงงานต้องทำหนังสือขอความเห็นชอบจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนดำเนินการ โดยจะต้องแนบรายละเอียดการดำเนินการและแบบแปลนหลุมฝังกลบ พร้อมระบบกันซึม ระบบการตรวจสอบการรั่วไหล ระบบระบายก๊าซ ระบบรวบรวมน้ำชะและระบบบำบัดน้ำเสีย

ด้วยเหตุนี้ การยินยอมให้ผู้ประกอบการสามารถกำจัดของเสียที่ติดไฟได้ง่ายด้วยการเผา การฝัง การใช้สารเคมีนั้น ไม่อาจลบล้างหรือยกมาอ้างเหตุไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องข้างต้น ได้ครับ กฎหมายทุกฉบับย่อมมีศักดิ์และสิทธิ์ และมีสภาพบังคับที่แตกต่างกันทั้งสิ้น มาถึงบรรทัดนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ประกอบการว่าจะเลือกวิธีการกำจัดของเสียที่ติดไฟได้ง่ายด้วยการเผา การฝัง การใช้สารเคมี ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๕๕ หรือไม่

*****End of Article*****

 

 

 

 

ผู้ชม 4,672 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556