เตรียมพร้อมรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ 300 บาททุกจังหวัดทั่วประเทศไทยในปีพ.ศ. 2556

ดร.ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

 

ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะผลักดันให้บังคับใช้อัตราค่าจ้างใหม่ให้ได้ 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ภายหลังใช้ในโครงการนำร่อง 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต, กทม, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร ที่ผ่านมา  ซึ่งแน่นอนที่สุด ผู้เขียนย้ำว่า อัตราค่าจ้างใหม่ 300 บาท ไม่ว่าจะใช้ในโครงการนำร่อง 7 จังหวัดไปแล้ว หรือจะบังคับใช้ในทุกจังหวัดในภายหลัง ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น  ผู้เขียนไม่ห่วงผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะเขาจ้างในอัตราที่สูงกว่า 300 บาทอยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการ SME จะต้องเตรียมพร้อมอย่างไรให้อยู่รอดได้  อย่าลืมว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ ยังคงต้องพึ่งพาผู้ประกอบการ SME เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ที่จะผลิตวัตถุดิบหรือ parts เพื่อประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป

โดยทั่วไป ต้นทุนค่าแรงจะอยู่ประมาณ 8-15 % ของโครงสร้างต้นทุน  และสินค้าแต่ละรายการจะมีต้นทุนประมาณ 75-90 %  ดังนั้น หากสมมติกันง่ายๆว่า ต้นทุนค่าแรงอยู่ที่ 10 % ของโครงสร้างต้นทุนรวม  และราคาขายจะมีต้นทุนที่ 80 % จะทำให้มีค่าแรงประมาณ 8 % ของราคาขาย  หากค่าแรงใหม่เพิ่มขึ้นอีก 40 % จากอัตราค่าจ้างเดิม จะทำให้มีค่าแรงเพิ่มขึ้น 3.2 % แปลกันง่ายๆก็คือว่า ทุกๆราคาขาย 100 บาท จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 บาทจากค่าแรงใหม่ แน่นอน ผู้ประกอบการคงไม่แบกรับต้นทุนทั้งหมดไว้หรอกครับ คงผลักภาระไปยังผู้บริโภคอย่างเราๆท่านๆทั้งหลาย ถ้าคิดว่าแค่เพิ่มขึ้นนิดหน่อย 3.2 บาท  เพิ่มน้อยใช่ไหมครับ แต่เปล่าเลย เราต้องมองไปที่ “ห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain)” ของสินค้านั้นๆประกอบด้วยครับว่า มีหน่วยอุปทานมากน้อยเพียงใดด้วย ยิ่งมีหน่วยอุปทานในห่วงโซ่มากเท่าใด แนวโน้มของต้นทุนจะยิ่งสูงขึ้นมากเท่านั้น

ลองสมมติกันอีกครั้งว่า สินค้ารายการหนึ่งมีหน่วยอุปทาน (Supply unit) 10 หน่วยของห่วงโซ่ ทุกๆหน่วยราคาขาย 10 บาท หมายความว่า เรามีต้นทุนขาย 100 บาท เอากำไร 10 บาท จะตั้งราคาขายไว้ที่ 110 บาทใช่ไหมครับ เดิมเราคิดแบบนี้ แต่เมื่อต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นข้างต้น แสดงว่า ทุกๆหน่วยอุปทาน จะขายในราคา 10.03 บาท มี 10 หน่วยรวมแล้วมีต้นทุน 100.30 บาท เราเองก็มีต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นด้วย 3.52 บาท (คิดจาก 3.2 % ของ 110 บาท) รวมแล้วต้นทุนรวมของเราจะอยู่ที่ 100.30+3.52 = 103.82 บาท หากเรายืนราคาขายเดิม ที่ 110 บาท กำไรเราจะลดลงเหลือเพียง 6.18 บาทเท่านั้น ถามว่าเราจะยอมรับได้หรือไม่ โดยวิสัยของพ่อค้าคงไม่ยอมรับหรอกครับ ก็ต้องขอขึ้นราคา หรือลดปริมาณลงอย่างหนึ่งอย่างใด หรือทั้งสองอย่าง สมมติกันง่ายๆอีกว่า เขาไม่ขายที่ 110 บาทเท่าเดิมหรอกครับ คงขายที่ 115 บาทเป็นอย่างน้อย ใช่ไหมครับ เท่ากับเพิ่มขึ้น 4.55 % เท่ากับว่าราคาขายเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าต้นทุนค่าแรงจริงที่เพิ่มซะอีก

คิดกันง่ายๆว่า นี่เป็นแค่ตัวอย่างสินค้าที่สมมติว่ามีหน่วยอุปทานแค่ 10 หน่วยในห่วงโซ่เท่านั้น ในความเป็นจริง บางสินค้าสำเร็จรูปมีเป็นร้อยเป็นพันหน่วยอุปทานนะครับ อย่างน้อยๆก็ไม่ต่ำกว่า 20-30 หน่วยครับ  และนี่เป็นเพียงแค่สินค้ารายการเดียวเท่านั้น คิดดูซิครับว่า เดือนๆหนึ่งเราซื้อสินค้ากี่รายการกี่ครั้ง ราคาสินค้าคงถีบตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทจะเล็กลง ลองล้วงประเป๋ากำเงิน 100 บาท ไปจ่ายกับข้าวที่ตลาดดูซิครับ จะได้ข้าวของติดไม้ติดมือสักกี่อย่าง

ผลการปรับค่าแรงเป็น 300 บาททุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงค่าครองชีพ หรือดัชนีผู้บริโภคที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด ทำให้เห็นผลแบกรับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เช่นที่จังหวัดพะเยา ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 222 บาท เมื่อปรับสูงขึ้นเป็น 300 บาท เท่ากับเพิ่มขึ้นถึง 35.14 % เลยทีเดียว จังหวัดอื่นๆก็เช่นเดียวกันเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อยแล้วแต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ (พ.ศ.2555)

ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาหนักใจของผู้ประกอบการ คือ ค่าแรงที่ปรับขึ้นให้ได้ 300 บาทนั้น ย่อมส่งผลกระทบมากกว่าอัตราที่เพิ่มขึ้นข้างต้นเพราะเราไม่ได้ปรับเฉพาะคนที่ไม่ได้ถึง 300 บาทเท่านั้น แต่จะต้องปรับค่าแรงของพนักงานเก่าที่มีค่าแรงเกือบถึงหรือมากกว่า 300 บาทให้สูงขึ้นตามไปด้วย มิฉะนั้น พนักงานเก่าที่มีทักษะความรู้ความสามารถสูงอาจจะลาออกหรือเกิดการต่อต้านภายในองค์กรก็ได้ครับ  ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการบางรายอาจจะถือโอกาสบีบให้พนักงานเก่าที่มีค่าแรงสูงออกจากองค์กรก็ได้เช่นกัน ผลก็คือ อัตราการว่างงาน จะสูงขึ้นเช่นกัน

 ผู้เขียนขอวิเคราะห์ปัญหาผลการกระทบจากการปรับค่าแรง 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ดังต่อไปนี้

1.               สถานประกอบการบางแห่งจะเริ่มปลดพนักงานเก่าที่มีค่าจ้างสูงกว่า 300 บาท เพื่อรับพนักงานใหม่ที่มีค่าแรงถูกกว่าเข้ามาทำงานทดแทน ณ ปัจจุบัน สัญญาณแบบนี้จะเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ คนเก่าๆที่อายุมากจะถูกปลดแล้วจะหางานทำที่ใหม่ได้อย่างไร แน่นอน อัตราการว่างงานอาจจะทะยานสูงขึ้น

2.               ไม่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันจากสถานที่ตั้งของผู้ประกอบการอีกต่อไป  ย่อมทำให้ผู้ประกอบการไม่มีความจำเป็นต้องไปตั้ง ณ สถานที่ต่างจังหวัด เพราะความได้เปรียบจากค่าแรงได้หมดสิ้นลงแล้ว การจ้างงานและการสร้างงานที่ต่างจังหวัด จึงพิจารณาจากปัจจัยแหล่งวัตถุดิบ และความยากง่ายจากการหาแหล่งแรงงานเป็นสำคัญ ถ้าวัตถุดิบหาได้ง่าย แรงงานหาง่าย ก็อาจจะดึงดูดผู้ประกอบการไปลงทุนที่นั้น

3.               จะไม่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานไทยข้ามถิ่น เพราะทำงานที่ใกล้บ้านก็ได้รับค่าจ้าง 300 บาทเท่ากับกรุงเทพและที่อื่นๆเท่ากัน แถมค่าครองชีพที่บ้านก็ถูกกว่า อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวด้วย ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม และเฉพาะบางพื้นที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ

4.               สืบเนื่องจากข้อ 3 จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานทดแทนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องไปมองอื่นไกลลองเหลียวดูรอบๆเพื่อนบ้านใกล้เคียงกับที่ทำงานหรือที่บ้านก็ได้ จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยมากน้อยเพียงใด และค่าแรงก็ไม่น้อยกว่าอัตรา 300 บาทเช่นเดียวกับคนไทยนะครับ ปัญหาความมั่นคงของประเทศจะตามมา ถ้าไม่รีบวางมาตรการที่รัดกุม จะก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวอย่างแน่นอน ประเด็นสำคัญ คือ การก้าวเข้ามาของแรงงานต่างด้าวสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานทักษะฝีมือ (Skilled labor) หรือ เคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคบริการ เช่น การโรงแรม การท่องเที่ยว มากขึ้นเท่าไร ปัญหาการว่างงานของคนไทยในระดับอุดมการศึกษาจะกลายเป็นปัญหาสำคัญทีแก้ไขได้ยากเพียงนั้น

5.               ผู้ประกอบการบางส่วนจะเคลื่อนย้ายการลงทุนไปที่ปะเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก (Labor intensive industry) เพราะจะได้เปรียบเรื่องค่าจ้าง ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกันง่ายๆ คือ จากอัตราค่าจ้าง 300 บาทของไทย เมื่อจ้างคนไทย 1 คนที่ประเทศไทยจะเท่ากับจ้างคนลาวได้ 3 คนที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว  เท่ากับจ้างคนพม่าได้ 4 คนที่ประเทศสหภาพพม่า เท่ากับจ้างคนกัมพูชาได้ 5 คนที่ประเทศกัมพูชา เท่ากับจ้างคนเวียดนามได้ 5 คนที่ประเทศเวียดนาม โดยประมาณ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเกิดการหลั่งไหลของเงินลงทุนจากไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน ไม่มากก็น้อย

การเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าวผู้ประกอบการ ควรดำเนินการอย่างไร ผู้เขียนขอเสนอแนะดังนี้

1.               ให้ศึกษาโครงสร้างการปรับอัตราค่าจ้างใหม่ (ผู้เขียนขออ้างอิงบทความของผู้เขียนเรื่อง สูตรการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ) ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางการปรับค่าจ้างใหม่ในครั้งนี้ได้เช่นกัน

2.               ผู้บริหารต้องกำหนดยุทธศาสตร์การลดต้นทุน ที่วัดค่าได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะลดต้นทุนจากค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าโสหุ้ยต่างๆ ให้ได้มากกว่าอัตราค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แม้กระทั่งการลดอัตราของเสียระหว่างการผลิต, การคืนสินค้า, การสต็อกสินค้า หรือ วัตถุดิบ เกินความจำเป็น, การทำโอทีโดยไม่มีผลผลิต ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งในการลดต้นทุนการดำเนินงาน

3.               นำวิทยาการผลิตใหม่ๆ มาใช้ทดแทนการใช้แรงงาน ทั้งนี้ ให้พิจารณาจากประสิทธิภาพการผลิตเป็นสำคัญ ต้นทุนต่อหน่วยจะต้องลดลง ไม่น้อยกว่าเดิม

4.               ศึกษาการลงทุนในต่างประเทศที่ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานถูกกว่า อาจจะเป็นแนวทางที่ไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อคิดถึงการดำรงอยู่ของธุรกิจอาจจะจำเป็นต้องทำแบบนี้ ซึ่งอาจจะใช้แรงงานในต่างประเทศทำสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเบื้องต้น แล้วมาประกอบในไทยซึ่งต้องใช้ทักษะการทำงานสูงกว่า หรือในทางกลับกัน แรงงานในไทยอาจจะทำสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่ต้องใช้ทักษะสูง แล้วไปประกอบในประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ต้องใช้ทักษะมากนักก็ได้

5.               ประเด็นสำคัญที่สุดที่ผู้เขียนขอให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงการใช้แรงงานที่มีทักษะหลายๆทักษะ (Multi skill) เพราะจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ให้คำปรึกษาบริษัทหลายแห่งสามารถพัฒนาพนักงานให้มี multi skill ซึ่งจะทำให้ช่วยลดต้นทุนลงได้มาก ได้งานโดยไม่เพิ่มคน พนักงานก็มีรายได้มากขึ้น ของเสียก็ลดลง เพียงแต่การวัดระดับทักษะและแผนการพัฒนาทักษะจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและเป็นแบบแผน ปัจจุบันบริษัทบางแห่งจ่ายผลตอบแทนตามระดับทักษะซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้

มาถึงบรรทัดนี้ ผู้ประกอบการคงต้องมาถึงบทพิสูจน์ท้าทายความสามารถขององค์กรแล้วว่าจะต้องสอบผ่านให้ได้ด้วยตนเองดีกว่าครับ อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่ต้องรอให้รัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐยื่นมาเข้ามาช่วยเลยครับ อาจจะช้าไม่ทันการณ์ การปรับตัวให้เร็วของภาคเอกชนเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดครับ

*****End of Article*****

 

ผู้ชม 4,722 วันที่ 22 ธันวาคม 2555