การครอบครองก๊าซ LPG ที่ใช้กับรถโฟล์คลิฟท์ : ทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

 

 

ปัจจุบันมีโรงงานหลายแห่งที่ใช้รถโฟล์คลิฟท์ซึ่งใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิง จึงมีการจัดเก็บและครอบครองก๊าซ LPG จำนวนมากในโรงงาน ซึ่งในกรณีการใช้ก๊าซหุงต้มของรถฟอร์คลิฟท์ นั้นทางเจ้าหน้าที่ของกรมธุรกิจพลังงานบางท่านแจ้งว่าไม่เข้าข่ายเป็นเชื้อเพลิงสำหรับกระบวนการผลิตและไม่นับรวมเป็นสถานที่ใช้ก๊าซ จากคำนิยาม สถานที่ใช้ ก๊าซปิโตรเลียมเหลวหมายความว่าสถานประกอบการที่ มีการเก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพื่อใช้เป็น เชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิต แต่ไม่รวมถึงการใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหุงต้มในครัวเรือน  ดังนั้นจึงไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา การกำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบ และการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ สำหรับสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ที่กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๕๔" แต่ให้ใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาบังคับแทน    ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เขียนตั้งประเด็นสงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงไม่นับปริมาณก๊าซ LPG สำหรับรถโฟล์คลิฟท์เป็นการเก็บรักษาตามนัยแห่งประกาศกระทรวงพลังงานฯดังกล่าวด้วย ในขณะที่มีการนับปริมาณก๊าซ LPG ที่ใช้ในกระบวนการซ่อมบำรุงรักษาและ โรงอาหาร เป็นการเก็บรักษา ซึ่งเป็นคำถามที่ผู้เขียนร้องขอคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่ของกรมธุรกิจพลังงานให้ช่วยชี้แจงว่า หากท่านจะอธิบายว่า ก๊าซ LPG ที่ใช้ในรถโฟล์คลิฟท์ไม่นับเป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบในกระบวนการผลิต ก็คงยากจะอธิบายว่าก๊าซ LPG ที่เก็บไว้ใช้ในโรงอาหารเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอย่างไร  ทำไมถึงนับรวมเป็นปริมาณการเก็บรักษาด้วย แต่ถ้าจะอธิบายว่าก๊าซ LPG ที่ใช้ในการซ่อมบำรุงรักษาใช้เพื่อการสนับสนุนกระบวนการผลิตจึงนับเป็นการเก็บรักษา ก็คงยากจะอธิบายว่า การเคลื่อนย้ายสินค้าและวัตถุดิบด้วยรถโฟล์คลิฟท์ไม่ใช่เป็นกระบวนการสนับสนุนการผลิตด้วยหรือ  แต่นับจนบัดนี้ ผู้เขียนยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จึงขอฝากให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียช่วยสอบถามเพิ่มเติมด้วยครับ เพราะผู้เขียนเห็นว่าตามเจตนารมณ์แห่งพรบ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ซึ่งระบุเหตุผลในการตราพระราชบัญญัตินี้ฯซึ่งเห็นควรให้ปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อควบคุมดูแลความปลอดภัยของประชาชนให้เหมาะสมยิ่งขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 จะออกมายกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 [มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ ตรากฎหมายควบคุมการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว] ไปแล้วก็ตาม แต่ความในมาตรา มาตรา 11 บัญญัติว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ หรือ เงื่อนไขที่ออกหรือกำหนดตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการบรรจุก๊าซตามข้อ 2 และที่เกี่ยวกับกฎกระทรวง ที่ออกตามข้อ 3 ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ให้นำกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ หรือเงื่อนไขที่ออกหรือกำหนดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2514 รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับ

ดังนั้นจึงต้องนำกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2514 [แก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการบรรจุก๊าซ ภาชนะบรรจุ การตั้ง การเก็บภาชนะบรรจุ เครื่องมือเครื่องใช้ในการบรรจุ และมาตรการความปลอดภัยในสถานที่ที่ใช้ในการบรรจุ การจำหน่าย การเก็บ และการใช้ก๊าซ] มาใช้บังคับโดยอนุโลม

นอกจากนี้ ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรักษาและการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวจากถังก๊าซหุงต้มในสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว พ.ศ. ๒๕๕๔ ยังระบุอีกว่า “ข้อ ๘ สถานที่ใช้ก๊าซที่ ได้รับ ความเห็น ชอบตามกฎกระทรวงฉบับ ที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับ ที่ ๒๘ ลงวัน ที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ หรือพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมัน เชื้อเพลิง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ ก่อนประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ต้องปฏิบัติให้เป็น ไปตามประกาศนี้ ยกเว้นการทดสอบก่อนการใช้งาน ตามข้อ ๖ วรรคสอง”

ด้วยเหตุนี้ โรงงานที่มีการใช้รถโฟล์คลิฟท์ซึ่งใช้ก๊าซ LPG จึงควรปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2549) ดังต่อไปนี้

1.       ควรควบคุมปริมาณถังก๊าซ LPG ที่ใช้กับรถโฟล์คลิฟท์ไม่ให้เกิน 500 ลิตร เพราะจะเข้าข่ายเป็นสถานที่ใช้ก๊าซ (ย้ำว่า 500 ลิตร ไม่ใช่ 500 กก.) คิดกันง่ายๆ คือ ถังก๊าซ LPG ที่ใช้ในรถโฟล์คลิฟท์ ขนาด 15-18 กก จะมีความจุ 30 ลิตรโดยประมาณ (เทียบกับค่าความถ่วงจำเพาะของ LPG = 0.50) จะเก็บได้ไม่เกิน 16 ถัง (รวมถังเปล่าที่ใช้หมุนเวียนด้วยครับ)

2.       ถ้าครอบครองถังก๊าซ LPG ที่ใช้กับรถโฟล์คลิฟท์เกินกว่า 500 ลิตร จะต้องปฏิบัติตาม ข้อบังคับดังต่อไปนี้

2.1    ข้อ 20 สถานที่ตั้งและเก็บถังก๊าซหุงต้มของสถานที่ใช้ก๊าซ ต้องมีลักษณะและระยะปลอดภัย

2.2    ข้อ 84 การตั้งถังก๊าซหุงต้มในสถานที่ใช้ก๊าซ ต้องปฏิบัติดังนี้

(1)        ต้องตั้งถังก๊าซในที่ที่จัดไว้สำหรับตั้งถังก๊าซหุงต้มโดยเฉพาะเท่านั้น

(2)        ต้องไม่ตั้งถังก๊าซหุงต้มซ้อนกัน

(3)        ต้องตั้งถังก๊าซหุงต้มไว้ในที่ที่มีการระบายอากาศหรือถ่ายเทอากาศได้ดี

(4)        ต้องมีอุปกรณ์ยึดถังก๊าซหุงต้ม เพื่อไม่ให้ถังก๊าซหุงต้มเคลื่อนหรือล้ม

2.3    ข้อ 99 ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งหรือน้ำยาดับเพลิงหรือเครื่องดับเพลิงชนิดอื่นที่ไม่ใช่เครื่องดับเพลิงชนิดฟองก๊าซ ซึ่งบรรจุผงไม่น้อยกว่า 6.8 กก. ณ ผนังริมประตูเข้าออก 1 เครื่องและที่บริเวณที่ตั้งกลุ่มถังก๊าซหุงต้ม 1 เครื่องต่อปริมาณก๊าซทุก 1000 ลิตร เศษของ 1000 ลิตร ให้คิดเป็น 1000 ลิตร

2.4    ข้อ 103 ห้ามใช้เครื่องดับเพลิงชนิดฟองก๊าซดับเพลิงที่เกิดจากก๊าซ

2.5    ข้อ 104  ต้องมีระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่ได้มาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนด การป้องกันและระงับอัคคีภัย รวมถึงการติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เป็นไปตามหมวด 11

2.6    ข้อ 107 ถ้าครอบครองเกิน 500 ลิตร ต้องติดตั้งเครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่วไว้ที่บริเวณที่ตั้งและเก็บถังก๊าซหุงต้มบริเวณละหนึ่งเครื่อง

3.       ถังก๊าซที่ใช้กับรถโฟล์คลิฟท์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมถังก๊าซปิโตรเลียมเหลวสำหรับรถโฟล์คลิฟท์ ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดมาตรฐานดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมถังก๊าซปิโตรเลียมเหลว มอก. 27

4.       การติดตั้งอุปกรณ์และส่วนควบของระบบก๊าซต้องได้รับการตรวจทดสอบรับรองอย่างน้อยปีละครั้ง โดยวิศวกรผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม  เรื่อง รถฟอร์คลิฟท์ (Forklift) ที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง พ.ศ. 2545 ซึ่งในกรณีที่เป็นการเช่ารถฟอร์คลิฟท์ ผู้เขียนแนะนำให้ผู้เช่า ร้องขอรายงานการตรวจทดสอบรับรองดังกล่าวจากผู้ให้เช่าเป็นบันทึกเก็บไว้ด้วยครับ จะอ้างว่ารถฟอร์คลิฟท์ไม่ใช่เป็นของโรงงานจึงไม่ต้องตรวจทดสอบรับรองไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าหมายถึงรถฟอร์คลิฟท์ที่นำมาใช้ในโรงงาน

ผู้เขียนเข้าใจว่าโรงงานที่ครอบครองถังก๊าซ LPG สำหรับรถโฟล์คลิฟท์คงมีความยุ่งยากพอสมควร แต่เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายคงจะต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม โดยผู้เขียนแนะนำให้ใช้การบริหารจัดการ เช่น การปรับเปลี่ยนระบบการขนย้ายวัสดุและสินค้า, การเปลี่ยนจากรถโฟล์คลิฟท์ใช้ก๊าซ LPG มาใช้รถโฟล์คลิฟท์ที่ใช้ไฟฟ้าในส่วนภายในอาคาร เป็นต้น เพื่อควบคุมไม่ให้มีการจัดเก็บถังก๊าซ LPG มากจนเกินไป และหวังว่าคงเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไปปรับใช้ให้เหมาะสมต่อไปครับ

*****End of Article*****

 

ผู้ชม 16,843 วันที่ 27 กันยายน 2555