การบริหารทรัพยากรมนุษย์เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

โดย นายปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community) คือการรวมตัวของชาติในอาเซียน 10 ประเทศสมาชิก โดยมี ไทย, พม่า, ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, บรูไน เพื่อที่จะให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน เพื่อที่จะทำให้มีผลประโยชน์, อำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้าได้มากขึ้น และการนำเข้า ส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรี ยกเว้นสินค้าบางชนิดที่แต่ละประเทศอาจจะขอคงไว้ซึ่งกำแพงภาษีเพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่น

จากการตกลงร่วมกันในเสาหลักทั้งสามของประชาคมอาเซียน เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตที่สำคัญของโลก (Single market and Production base)  กลุ่มผู้นำอาเซียนตกลงที่จะ

(1) เร่งการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ให้สำเร็จในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ.2558)

(2) เปลี่ยนอาเซียนไปสู่การเป็นภูมิภาคที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุนเสรี ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คาดหวังว่าจะบรรลุลักษณะของการเป็นตลาดและฐานการลงทุนเดี่ยวและภูมิภาคที่มีระบบเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันในระดับสูง

(3) ภูมิภาคของการพัฒนาเศรษฐกิจที่เท่าเทียม

(4) ภูมิภาคที่บูรณาการอย่างสมบูรณ์เข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก

ด้วยเหตุนี้ การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่จะเริ่มมีผลบังคับในปี ค.ศ.2015 ดังกล่าวย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ, สังคมและการศึกษาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก แต่เป็นที่น่าประหลาดใจที่โรงงงานอุตสาหกรรมและกิจการ SME หลายแห่งในไทย ไม่ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงแม้แต่น้อย ในส่วนของภาครัฐเองได้แต่เพียงจัดการสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทย แต่ยังไม่ทราบเลยว่า “แผนยุทธศาสตร์แม่บท” ที่จะพัฒนาประเทศเพื่อรองรับ AEC จะชี้นำให้อุตสาหกรรมของประเทศเดินไปในทิศทางใด สินค้าและบริการในส่วนใด (segment) ที่ได้ประโยชน์ และ/หรือเสียเปรียบ

ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสนี้แนะนำให้ผู้ประกอบการในกลุ่ม SME ต้องช่วยเหลือกันเองกันไปก่อน โดยไม่ต้องไปกังวลเรื่องการทำ SWOT Analysis ตามที่หน่วยงานภาครัฐพร่ำทำ workshop กัน เพราะผู้เขียนเชื่อว่าผู้ประกอบการไทย คงทราบดีอยู่แล้วว่า ปัจจัยด้านสินค้า, บริการ, แรงงานฝีมือและเงินทุนของคู่แข่งในภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างไร ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยควรจะตระหนักถึงคือเรื่องระบบการขนส่งสินค้า (Logistic management) ที่แม้ว่าทำเลที่ตั้งของไทยจะเหมาะสมแต่เทคโนโลยีด้านขนส่งของไทยยังคงล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก

นอกจากนี้ ผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายแรงงานในเขตภูมิภาคอาเซียน อาจจะมีผลกระทบต่อบางธุรกิจ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยส่วนมากมักจะมองข้าม และมักจะเข้าใจผิดในบางข้อเท็จจริง  อาทิเช่น แรงงานไทยเป็นแรงงานฝีมือ เก่งกว่าแรงงานเพื่อนบ้าน (ท่านคิดว่าจริงหรือไม่ หากคิดว่าใช่ ถามว่าวิศวกรระดับปริญญาตรีของไทยสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีกว่าหรือต่ำกว่าวิศวกรจากประเทศสิงคโปร์, มาเลเซีย, หรือเวียดนาม), แรงงานไทยหายาก สู้ไปตั้งอยู่ใกล้ชายแดนดีกว่า น่าจะหาแรงงานได้มากกว่า และราคาถูกกว่า (หากท่านคิดว่าใช่  ค่าจ้างแรงงานในเขตชายแดนก็มีการแข่งขันกันสูงเพื่อแย่งชิงแรงงาน และแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานชั่วคราว เมื่อถึงหน้านาฤดูเก็บเกี่ยว ก็จะอพยพไปทำงานให้ครอบครัวก่อน หมดแล้วค่อยกลับมาทำงานกันใหม่) เป็นต้น

ดังนั้น การบริหารทรัพยากรมนุษย์ของไทยจึงควรปรับตัวเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนี้

1.               การปรับบทบาทของหน่วยงาน HR ให้เป็น Change Agent เพื่อนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง HR จะต้องรอบรู้และมีไหวพริบเชิงธุรกิจขององค์กร (Business acumen)ด้วยเช่นกัน เมื่อผู้บริหารระดับสูงกำหนดทิศทางและนโยบายองค์กร HR จะต้องตระหนักและจัดทำแผนงานปฏิบัติการที่มีประสิทธิผลเพื่อนโยบายและยุทธศาสตร์ขององค์กร

2.               HR จะต้องส่งเสริมการฝึกอบรมให้พนักงานมีทักษะการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น (Multi skill training) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต

3.               การปรับโครงสร้างระบบผลตอบแทน (Compensation system) จะต้องถูกนำมาพิจารณาทบทวนกันใหม่อย่างจริงจัง เพื่อที่จะดึงรั้งพนักงานที่มีความรู้ความสามารถให้คงอยู่กับองค์กร ดังนั้น การปรับระบบการจ่ายผลตอบแทนดังกล่าวจะต้องสร้างควบคู่ไปกับการสร้างความผูกพันของพนักงาน (Employee engagement) ด้วยเช่นกัน

4.               การส่งเสริมให้มีระบบสารสนเทศในกระบวนการภายในองค์กร รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศด้าน HR (HRIS) ด้วยเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยเราเสียเปรียบประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน เพราะจากการวิจัยพบว่า ประเทศที่มี ประชากรมีการใช้คอมพิวเตอร์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ ไม่มีรายชื่อประเทศไทยใน 5 ลำดับแรก (อ้างอิงจาก http://www.thai-aec.com/37)

5.               การส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะการสื่อสารด้านภาษาต่างประเทศ  เป็นประเด็นที่พนักงานระดับแรงงานฝีมือของไทยมักจะเสียเปรียบแรงงานจากภูมิภาคอื่นๆ ดังนั้น หากแรงงานไทยคนใดสามารถสื่อสารภาษต่างประเทศได้มากกว่า 2 ภาษาก็จะได้เปรียบอย่างยิ่ง อย่างน้อยควรสนใจภาษาอังกฤษ, ภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่น เพราะในอนาคตการร่วมงานกับบรรษัทข้ามชาติจะเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาองค์กร

6.               HR จะต้องศึกษาข้อกำหนดกฎหมายด้านแรงงานนานาชาติ, กฎหมายแรงงานของแต่ละชาติในอาเซียน ที่อาจจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในบริษัทในเครือหรือข้ามองค์กรก็ได้

7.               HR จะต้องเตรียมพร้อมการบริหารทั้งแบบข้ามสายงาน (Cross functional management) ซึ่งหมายถึงว่าพนักงานจะต้องยึดการทำงานเพื่อประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้ง และต้องทำงานกันเป็นทีมมากขึ้น  นอกจากนี้ การทำงานร่วมกับคนต่างชาติอื่นๆ จึงจำเป็นต้องพิจารณาการบริหารข้ามวัฒนธรรม (Cross cultural management) ด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายถึงว่า HR จะต้องเรียนรู้ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของบรรษัทข้ามชาติที่ร่วมงานด้วย

โดยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นมีประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศของอาเซียนที่มีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองกันอย่างชัดเจน สำหรับประเทศที่ มีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสูงสุดเมื่อเทียบกับGDP ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (74% ของ GDP) เวียดนาม (67%) อินโดนีเซีย (59%) ไทย (55%) มาเลเซีย(50%) และสิงคโปร์ (41%) ส่วนตลาดการท่องเที่ยวนั้น พบว่าประเทศที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากที่สุด ได้แก่ มาเลเซีย (22 ล้านคน) ไทย (14 ล้านคน) สิงคโปร์ (7 ล้านคน)อินโดนีเซีย (6 ล้านคน) และเวียดนาม (4 ล้านคน) และเมื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่ เอื้อต่อการลงทุน พบว่าคุณภาพของคนในประเทศอาเซียน สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ (อ้างอิงจาก http://www.thai-aec.com/37)

บทสรุปของบทความนี้ จึงน่าจะเป็นการสร้างการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ดังนั้น องค์กรของท่านจะต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยนการบริหารทรัพยากรบุคคลให้เป็นสากลมากขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเตรียมการเพื่อรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมาถึงในอีก 3 ปีข้างหน้านี้

******End of Article*****

ผู้ชม 4,687 วันที่ 23 เมษายน 2555