ทำอย่างไรให้สอดคล้องตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2004

ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

จากประสบการณ์ของผู้ที่ตรวจประเมินรับรองระบบ ISO 14001:2004 ของบริษัทต่างๆจำนวนมาก พบว่าแทบทุกบริษัทมักจะประสบปัญหากับการตีความตัวบทกฎหมายและการปฏิบัติตามกฎหมายให้สอดคล้อง  ผู้เขียนเข้าใจดีว่าทุกบริษัทที่ทำระบบ ISO 14001:2004 มีความตั้งใจอันดีที่จะปฏิบัติตามกฎหมายให้สอดคล้องอยู่แล้ว จึงเป็นที่มาประการหนึ่งที่ผู้เขียนเปิดช่องทางให้ท่านสามารถสมัครเป็นสมาชิกเพื่อดาวน์โหลดกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อส่งเสริมให้ท่านมีทางเลือกที่จะเข้าถึงข้อกำหนดทางกฎหมายได้

อย่างไรก็ตาม การตีความตามตัวบทกฎหมายสิ่งแวดล้อมภายใต้ระบบ ISO 14001:2004 ยังคงมีข้อสงสัยอยู่มากว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ดังนั้นผู้เขียนจึงขอนำผลการฝึกอบรมเรื่องนี้ มาสรุปเป็นแนวทางจากการทำความเข้าใจดังต่อไปนี้ครับ

1.               ก่อนอื่น ท่านจะต้องจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงานเรื่องการเข้าถึงข้อกำหนดทางกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ ซึ่งบางบริษัทมักจะรวมเรื่องการประเมินความสอดคล้องเข้าไปด้วย สาระสำคัญของขั้นตอนนี้ ท่านจะต้องระบุให้ชัดเจนว่า องค์กรของท่านเข้าถึงข้อกำหนดทางกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ โดยเฉพาะข้อกำหนดของลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ถ้าไม่ทราบ ให้ระบุว่าเข้าถึงข้อกำหนดทางกฎหมายผ่านทางอินเตอร์เน็ตที่ website ราชกิจจานุเบกษา  และขอให้เข้าไป update เป็นระยะๆด้วยนะครับ ส่วนข้อกำหนดของลูกค้า ผ่านทางฝ่ายขายเป็นต้น และจะต้องกำหนดด้วยว่าท่านเข้าถึงแหล่งข้อมูลนั้นด้วยความถี่นานเท่าไร ผู้เขียนแนะนำว่าอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งเป็นอย่างน้อย บางองค์กรจะระบุว่าอย่างน้อยเดือนละครั้งก็ได้ครับ แต่ผู้เขียนคิดว่าอาจจะนานเกินไป เพราะบางกฎหมายมีผลบังคับนับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ในราชกิจจาฯครับ

2.               หลังจากนั้น  ท่านจะต้องไปตรวจสอบดูก่อนขอบข่ายที่บริษัทขอการรับรองนั้นระบุว่าอย่างไร (ดูจากใบรับรอง Certificate) และตรวจสอบว่าประเภทโรงงาน/องค์กรอยู่ในลำดับที่เท่าไรครับ ไม่ใช่โรงงานประเภทจำพวกที่ 3 นะครับ เช่น โรงงานลำดับที่ ๓๘ () โรงงานประกอบกิจการผลิตเยื่อกระดาษ, ลำดับที่ ๘๘ โรงไฟฟ้า, ลำดับที่ ๑๑ (), () โรงงานอุตสาหกรรมประกอบกิจการทำน้ำตาลทรายดิบ ทรายขาว หรือขาวบริสุทธิ์ เป็นต้น ถึงตรงนี้เท่ากับว่า ท่านกำลังขีดกรอบว่ากฎหมายอะไรบ้างที่องค์กรของท่านเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยครับ

3.               จากนั้น ท่านจะต้องเอากฎหมายและ/หรือข้อกำหนดจากข้อ 2 มาเทียบเคียงกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ท่านชี้บ่ง  เพื่อจะต้องควบคุมประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม (ตามข้อกำหนดที่ 4.4.6 Operational control และ/หรือข้อกำหนดที่ 4.5.1 Monitoring & Measurement) ด้วยเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่อง น้ำเสีย, อากาศเสีย  จะควบคุมด้วยวิธีปฏิบัติงาน และมีข้อกำหนดทางกฎหมายใดที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น   หากท่านสามารถทำมาถึงตรงนี้เท่ากับว่าท่านได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ 4.3.2 อย่างครบถ้วนแล้วครับ

4.               นอกเหนือจากนั้น ท่านควรจะสรุปประเด็นข้อกำหนดกฎหมายหรือข้อกำหนดอื่นๆจากข้อ 3 แจ้งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบด้วยครับ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกำกับดูแล  ขอย้ำว่า อย่าส่งต้นฉบับกฎหมายทั้งฉบับไปให้นะครับ แต่ควรจะสรุปเป็นแนวทางไปให้จะดีกว่านะครับ

5.               เมื่อท่านได้ข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากข้อ 3 ท่านก็ต้องนำมาประเมินว่ากฎหมายนั้นท่านได้ทำตามอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ หรือไม่  ถ้าได้ทำตามกฎหมายเป็นบางข้อ แต่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็ถือว่าข้อนั้นยังไม่สอดคล้องนะครับ   ถ้าจะสอดคล้อง คือ ท่านจะต้องทำตามกฎหมายหรือข้อกำหนดอื่นๆได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทุกข้อทุกเรื่องนะครับ หากท่านสามารถทำมาถึงตรงนี้เท่ากับว่าท่านได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ 4.5.2 แล้วครับ

6.               หากท่านประเมินว่า ยังไม่สอดคล้อง จะนำไปสู่การจัดทำแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องต่อไป แต่ถ้าสอดคล้องแล้วก็อาจจะไปเชื่อมโยงกับการเฝ้าระวังตามข้อกำหนดที่ 4.5.1 ต่อไป เพื่อป้องกันมิให้การควบคุมปฏิบัติงานนั้นเกินค่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ครับ เช่น การควบคุมน้ำเสีย แต่เดิม ท่านสามารถควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งได้ตามกฎหมาย แสดงว่า การดำเนินงานนั้นสอดคล้องตามกฎหมายแล้ว ก็ต้องเฝ้าระวังตามข้อกำหนดที่ 4.5.1 โดยตรวจวัดทุกเดือน  แต่สมมติว่ามีบางเดือนน้ำทิ้งมีค่าไขมันเกินค่าที่กฎหมายกำหนด แสดงว่าเดือนนั้นท่านไม่สอดคล้องตามกฎหมายนะครับ ผลจากการไม่สอดคล้องนั้น ก็นำไปสู่การแก้ไขตามข้อกำหนดที่ 4.5.3 เรื่องการแก้ไขและป้องกันต่อไปครับ

7.               ประเด็นสุดท้าย คือ ท่านต้องนำข้อกฎหมายหรือข้อกำหนดใหม่ๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมการประเมินความสอดคล้อง เข้าสู่ที่ประชุมทบทวนฝ่ายบริหารตามกำหนดเวลา  รวมทั้งผลการประเมินความสอดคล้องตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆที่ได้ผ่านการประเมินไปก่อนหน้านั้นแล้วด้วยครับ

 

จากขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น ขอให้อ่านข้อกำหนดประกอบ และพิจารณาร่วมกับระเบียบปฏิบัติที่องค์กรเขียนขึ้นมาด้วยครับ หากท่านค่อยๆทำความเข้าใจในเนื้อหาของกฎหมายอย่างละเอียด ก็จะทำให้ท่านสามารถปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ ไม่ยากเลยใช่มั้ยครับ

*****End of Article*****

ผู้ชม 4,785 วันที่ 28 กันยายน 2554