การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 3)

ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ทุกวันนี้ความเจริญเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะเดินสวนทางกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสังคม ย่อมไม่มีใครปฏิเสธเลยว่า องค์กรไม่สามารถยืนอยู่ได้โดยปราศจากการเหลียวแลสังคมรอบข้าง ดังนั้น ผลกำไรส่วนหนึ่งของบริษัทเอกชนจึงควรแบ่งปันตอบแทนคืนให้กับสังคม มิใช่เพียงแค่การบริจาคสิ่งของและเงินคืนแก่สังคมเท่านั้น หากแต่การกำกับดูแลองค์กรตามหลักธรรมาภิบาลซึ่งเน้นความโปร่งใสและความสามารถในการตรวจสอบได้ รวมถึงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อลูกค้าและพนักงานขององค์กร ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมเช่นกัน อย่างน้อยที่สุด การชำระภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน ไม่หลบเลี่ยงภาษีก็ถือว่าเป็นการคืนกำไรให้สู่สังคมได้เช่นกัน “

การดูแลสังคม มิใช่เป็นภาระขององค์กร หากแต่เป็นความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสังคม” ด้วยเหตุนี้ แนวทางการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์จึงควรยืนอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งผู้เขียนจะใช้หลักการและข้อกำหนดมาตรฐานสากลความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000:2010 เป็นแนวทางหลัก

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่า หลักการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ควรมี 7 หลักการสำคัญเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

หลักนิติธรรม (Rule of Law)

การปฏิบัติตามกฎ กติกาที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย, ธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศ หรือ ภายในองค์กร รวมถึงระเบียบข้องบังคับขององค์กรโดยคำนึงสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรมของสมาชิกในองค์กร

หลักจริยธรรม (Ethics)

การส่งเสริมให้สมาชิกในองค์กรยึดมั่นในคุณธรรม ความถูกต้องดีงาม การส่งเสริมสนับสนุนจริยธรรม ความเป็นคนดีในฐานะสมาชิกขององค์กร และพลเมืองของชาติ ให้มีความรับผิดชอบต่อตนเอง, องค์กร, ลูกค้าและสังคมโดยรวมในฐานะเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ

หลักความโปร่งใส (Transparency)

การดำเนินงานที่เป็นธรรม ตรวจสอบได้ มีการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของโดยปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรให้มีความเป็นธรรม ไม่ส่งเสริมการประพฤติทุจริต และคอรัปชั่นใดๆ

หลักการมีส่วนร่วม (Participation)

การเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงสมาชิกขององค์กรมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาต่างๆ การแสดงความคิดเห็นอื่น ๆได้อย่างประสิทธิผล

หลักความรับผิดชอบ (Accountability)

การตระหนักในสิทธิหน้าที่ความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบ ตลอดจนการเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลดีและผลเสียจากการกระทำของตน รวมถึงความยินดีที่จะให้ตรวจสอบผลการปฏิบัติงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบ

หลักความคุ้มค่า (Utility)

การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยคำนึงถึงความประหยัด ความมีประสิทธิภาพ และความมีประสิทธิผลของการดำเนินงาน รวมถึงความตระหนึกถึงผลกรทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หลักความเสมอภาค (Equality)

การเคารพในสิทธิมนุษยชน เพศ เชื้อชาติ และสิทธิขั้นพื้นฐานของสมาชิกภายในองค์กรในการแสดงความคิดเห็น การใช้สิทธิที่ถูกต้องโดยไม่ขัดกับหลักนิติธรรม

จากหลักการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรดังกล่าว ข้างต้น สามารถนำไปปฏิบัติภายในองค์กรได้ไม่ยากนัก ผู้สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลอื่นๆมากมาย ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมย่อมเจริญเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน

(คัดตอนบางส่วนจากหนังสือใหม่ “Results-Based Management (RBM) การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม”  )

ผู้ชม 2,776 วันที่ 12 สิงหาคม 2554