การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 1)

ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]  

ปัจจุบันกระแสการบริหารจัดการยุคใหม่หลั่งไหลเข้าสู่องค์กรทั้งภาคเอกชนและภาคราชการ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารและภาวการณ์แข่งขันในตลาดนั่นเอง แต่แนวโน้มของการบริหารจัดการใดๆก็ตาม มีประเด็นสำคัญที่ตรงกัน คือ “การก้าวไปสู่ผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร” เพียงแต่วิธีการและแนวความคิดอาจจะแตกต่างกันตามลักษณะของธุรกิจและนโยบายขององค์กร

แต่เดิมนั้น องค์กรภาคธุรกิจมักจะมองการบริหารจัดการของภาคราชการว่ามีระบบการบริหารจัดการที่ยุ่งยากมีระเบียบมากมายและยังล้าหลังกว่าเอกชนอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์และการประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นมาผลเนื่องมาจากโครงสร้างองค์กรของราชการยังซับซ้อน ใหญ่โตและมีข้าราชการจำนวนมาก กอปร์กับข้าราชการยังมีสวัสดิการที่ดี มีความมั่นคงในการงาน และมีทัศนคติของความเป็นเจ้าคนนายคน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ข้าราชการบางคนจึงไม่กระตือรือร้นในการทำงาน ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวที่ตำหนิข้าราชการบางคนซึ่งประพฤติตนไม่เอาใจใส่ในการทำงานว่า “ทำงานแบบเช้าชาม เย็นชาม” หรือแม้แต่การประเมินผลงาน ยังสะท้อนในวลีที่ว่า “ความชั่วไม่มี ความดี ไม่ปรากฏก็ยังได้เลื่อนขั้น” เป็นต้น

แต่ ณ ปัจจุบัน ภาคราชการมีการขยับเคลื่อนตัวไปไกลกว่าที่องค์กรภาคเอกชนจะคาดคิด อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการทัศน์ใหม่ในการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งจะเห็นได้จากความตอนหนึ่งใน มาตรา 3/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 บัญญัติว่า “ การบริหารราชการตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจภาครัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวกและการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลงาน....ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจ”

ด้วยเหตุนี้ การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Results-based management, RBM) จึงเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารราชการแผ่นดิน ตามหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management, NPM) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการทัศน์ใหม่ โดยมองไปที่การพัฒนาระบบการปฏิบัติงานใหม่ให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นที่ตั้งด้วยความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นสำคัญ

ในมุมมองของภาคธุรกิจเอกชน แนวความคิดเรื่องการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ (RBM) เป็นเสมือนเครื่องมือการบริหารจัดการ (Management tool) อย่างหนึ่งในการบริหารจัดการผลงานเชิงกลยุทธ์ ซึ่งบริษัทต่างๆ มีเครื่องมือหลายๆอย่างในการบริหารจัดการผลงานอยู่แล้ว ดังนั้น RBM จึงอาจจะถูกมองข้ามไปจากนักบริหารภาคธุรกิจ ด้วยเหตุที่คิดว่าน่าจะเหมาะสมกับการบริหารภาครัฐมากกว่าเอกชน แต่หากพิจารณาแนวความคิดหลักของการบริหารแบบ RBM จะพบว่าภาคธุรกิจเอกชน สามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เช่นกัน อีกทั้งสามารถใช้ RBM เป็นเสมือนแก่นเครื่องมือบริหารหลัก (Core management tool) โดยผสมผสานเครื่องมือเชิงการบริหารอื่นๆ เช่น ISO 9001, BSC เป็นต้น เพื่อใช้ในการเสริมสร้างความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรได้อย่างลงตัว ทั้งนี้เป็นผลมาจากวัตถุประสงค์หลักและแนวความคิดของ RBM ค่อนข้างยืดหยุ่น แต่มุ่งเน้นไปที่ผลสัมฤทธิ์ (Results) อย่างชัดเจน สำหรับองค์กรที่นำแนวคิดการบริหารโดยวัตถุประสงค์ (MBO) ใช้ภายในองค์กรอยู่แล้ว ยิ่งเป็นการง่ายมากขึ้นแต่ต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ให้สอดรับกับ RBM เท่านั้น

(คัดตอนบางส่วนจากหนังสือใหม่ “Results-Based Management (RBM) การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม” )

ผู้ชม 3,922 วันที่ 07 สิงหาคม 2554