สรุปความข้อกำหนด ISO 50001:2011

ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

หลังจากที่ ISO ประกาศข้อกำหนดระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001:2011) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พศ.2554 ที่ผ่านมา องค์กรสามารถประยุกต์ใช้ข้อกำหนดมาตรฐานสากลของระบบการจัดการพลังงาน  ISO 50001:2011 เพื่อนำไปปรับปรุงประสิทธิผลของการจัดการพลังงานขององค์กรอย่างมีมาตรฐานต่อไป และผู้เขียนคาดว่า หลักการการจัดการพลังงานตามมาตรฐาน ISO 50001:2011 สามารถใช้เป็นแนวทางทั่วไปสำหรับองค์กรที่ประสงค์นำหลักการดังกล่าวไปใช้ภายในองค์กรในการจัดการพลังงาน แม้ว่าจะไม่ขอรับการรับรอง (Certified) ก็ตาม

มาตรฐานการจัดการพลังงานนี้ดำเนินการภายใต้คณะกรรมการที่ TC 242 โดยให้ชื่อมาตรฐานว่า “Energy management systems — Requirements with guidance for use” แสดงว่าภายใต้มาตรฐานนี้จะเป็นทั้งข้อกำหนด (Requirements) และ แนวทาง (Guidance)สำหรับการประยุกต์ใช้

1.       ขอบข่าย (Scope)

มาตรฐานฉบับนี้สามารถดำเนินการได้โดยอิสระ หรือจะนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับมาตรฐานอื่นๆ เช่น ISO 14001, ISO 9001 เพื่อใช้ประเมินตนเอง หรือเพื่อการรับรองโดยหน่วยงานภายนอกก็ได้

2.       เอกสารอ้างอิง (Normative reference)

เอกสารอ้างอิงที่สามรถใช้ร่วมกับมาตรฐานฉบับนี้ได้แก่  ISO 14001 เป็นต้น

3.       คำศัพท์และคำนิยาม Terms and definitions

เนื่องจากคำศัพท์คำนิยามของมาตรฐานฉบับนี้มีมากถึง 28 รายการ บางรายการอ้างอิงคำศัพท์คำนิยามของ ISO 9000:2005 ด้วยเช่นกัน

4.       ข้อกำหนดระบบการจัดการพลังงาน (Energy management system requirements)

4.1       ข้อกำหนดทั่วไป (General requirements)

องค์กรต้องต้องจัดทำระบบการจัดการพลังงาน (EnMS)  โดยระบุไว้เป็นเอกสาร นำไปปฏิบัติ รักษาไว้และ ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานและบรรลุตามข้อกำหนด นอกจากนี้ยังต้องระบุขอบข่ายและขอบเขตของพื้นที่หรือกระบวนการของ EnMS ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  และกำหนดแนวทางการดำเนินงานปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของผลการปฏิบัติงานด้านพลังงานภายใต้ EnMS

4.2       ความรับผิดชอบฝ่ายบริหาร (Management responsibility)

4.2.1           ผู้บริหารระดับสูง (Top management)

ผู้บริหารระดับสูงต้องแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุน EnMS และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้มีประสิทธิผล

4.2.2           ตัวแทนฝ่ายบริหาร (Management representative)

ผู้บริหารระดับสูงต้องแต่งตัวแทนฝ่ายบริหารท่มีความสามารถและทักษะที่เหมาะสมซึ่งนอกเหนือจากงานหน้าที่อื่นๆแล้ว จะต้องรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ดังนี้

·        ทำให้มั่นใจว่า EnMS ถูกดำเนินการ, รักษาไว้และปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามข้อกำหนด

·        กำหนดตัวบุคคลที่ถูกมอบอำนาจจากผู้บริหาร เพื่อให้ปฏิบัติงานร่วมกับ EnMR (Energy Management Representative) ในการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของระบบการจัดการพลังงาน

·        รายงานต่อผู้บริหารระดับสูงของผลการปฏิบัติงานด้านพลังงานและ EnMS

·        วางแผนการจัดการด้านพลังงานตามนโยบายพลังงาน

·        กำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของบุคลากร พร้อมกับสื่อสารให้รับทราบภายในองค์กร

·        กำหนดเกณฑ์และวิธีการที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติงานและการควบคุม EnMS เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

·        ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกด้านพลังงานและวัตถุประสงค์ในทุกระดับชั้นภายในองค์กร

4.3       นโยบายพลังงาน (Energy policy)

ผู้บริหารระดับสูงต้องกำหนดนโยบายพลังงานขององค์กรภายใต้ขอบเขตของ EnMSและทำให้มั่นใจว่านโยบายนั้น

·        เหมาะสมกับสภาพและขนาดขององค์กรในการใช้พลังงาน

·        มุ่งมั่นต่อการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของผลงานด้านพลังงาน

·        มุ่งมั่นต่อข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอและทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงาน

·        มุ่งมั่นต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน

·        เป็นกรอบในการกำหนดและทบทวนวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงาน

·        สนับสนุนการจัดซื้อผลิตภัณฑ์และบริการ และการออกแบบเพื่อการปรับปรุงด้านพลังงาน

·        จัดทำเป็นเอกสารและสื่อสารให้ทุกระดับชั้นภายในองค์กร

·        ทบทวนตามกรอบเวลาและทำให้เป็นปัจจุบันเมื่อจำเป็น

4.4    การวางแผนด้านพลังงาน (Energy planning)

4.4.1    บททั่วไป (General)

              องค์กรต้องจัดทำกระบวนการวางแผนด้านพลังงานเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะต้องประกอบด้วยนโยบายพลังงานและกิจกรรมต่างๆในการนำไปสู่ผลการปฏิบัติงานด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทบทวนกิจกรรมต่างๆที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานด้านพลังงาน

4.4.2         กฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ (Legal and other requirements)

องค์กรต้องกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงาน นำไปปฏิบัติในการเข้าถึงกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน, และประสิทธิภาพของพลังงาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแสดงให้เห็นว่ากฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆนั้นถูกนำมาประยุกต์ใช้ภายในองค์กรด้านการจัดการพลังงานอย่างไร ให้สอดคล้องตาม EnMS  นอกจากนี้กฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆนั้นจะต้องทบทวนตามช่วงเวลาที่กำหนด

4.4.3        การทบทวนพลังงาน (Energy review)

วิธีการและกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการทบทวนพลังงานจะต้องจัดทำเป็นเอกสาร ซึ่งจะต้องครอบคลุมเรื่อง

a)       การวิเคราะห์การใช้พลังงาน

b)      ต้องระบุพื้นทีที่ใช้พลังงานมากอย่างมีนัยสำคัญด้วยการระบุสาธารณูปโภค, เครื่องมือ, ระบบ, กระบวนการและบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่หรือขอบเขตของการใช้พลังงานดังกล่าว  

c)       จัดลำดับและบันทึกโอกาสในการปรับปรุงผลงานการใช้พลังงาน

4.4.4        ฐานข้อมูลพลังงาน (Energy baseline)

องค์กรจะต้องจัดทำฐานข้อมูลเบื้องต้นด้านพลังงานโดยการใช้ข้อมูลจากการทบทวนพลังงานในช่วงเริ่มต้นของการจัดทำ และคำนึงถึงรอบระยะเวลาของข้อมูลที่เหมาะสมในการใช้พลังงาน

4.4.5        ตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานด้านพลังงาน (Energy performance indicators)

องค์กรต้องกำหนดตัวชี้วัดด้านพลังงาน (EnPI) เพื่อการเฝ้าระวังและตรวจวัดผลการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม  ตัวชี้วัดดังกล่าวจะต้องจัดทำเป็นบันทึกและทบทวนโดยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลด้านพลังงานตามกรอบเวลาที่เหมาะสม

4.4.6    วัตถุประสงค์, เป้าหมาย และแผนงานด้านการจัดการพลังงาน (Energy objectives, energy targets and energy management action plans)

องค์กรจะต้องจัดทำ นำไปปฏิบัติและรักษาไว้ซึ่งวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงานที่จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรของหน่วยงาน, ระดับ, กระบวนการหรือสาธารณูปโภคต่างๆที่เกี่ยวข้องภายในองค์กร รวมถึงกรอบเวลาแล้วเสร็จในแต่ละวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงาน

4.5    การปฏิบัติงาน (Implementation and operation)

4.5.1    บททั่วไป (General)

องค์กรต้องใช้แผนงานและผลจากกระบวนการตามแผนงานนั้นเพื่อนำไปปฏิบัติงาน        

4.5.2    ความสามารถ, การฝึกอบรมและจิตสำนึก (Competence, training and awareness)

องค์กรต้องมั่นใจว่าบุคลากรที่ทำงานหรือกระทำในนามขององค์กรที่เกี่ยวข้องการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญมีความสามารถบนพื้นฐานของการศึกษา, การฝึกอบรม, ทักษะหรือประสบการณ์ที่เหมาะสม องค์กรต้องระบุความจำเป็นในการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องการการควบคุมการใช้พลังงานนั้นและการจัดการด้านพลังงาน 

4.5.3    การสื่อสาร (Communication)

องค์กรต้องสื่อสารภายในในเรื่องเกี่ยวกับผลงานด้านพลังงานและEnMS ตามความเหมาะสมกับขนาดขององค์กร โดยองค์กรจะต้องจัดทำระเบียบปฏิบัติงานในการได้รับความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในการปรับปรุง EnMS จากบุคลากรที่ทำงานหรือกระทำในนามขององค์กร

4.5.4    ระบบเอกสาร (Documentation)

              องค์กรต้องจัดทำ นำไปปฏิบัติและรักษาไว้ซึ่งข้อมูลข่าวสารซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของกระดาษ, สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่ออื่นใด เพื่ออธิบายถึงข้อกำหนดหลักของระบบการจัดการพลังงาน และการเชื่อมโยงของกระบวนการต่างๆด้าน EnMS

              เอกสารภายใต้ระบบการจัดการพลังงาน ได้แก่

(a)     ขอบข่ายและขอบเขตของ EnMS

(b)    นโยบายพลังงาน

(c)     วัตถุประสงค์, เป้าหมายและแผนงานด้านพลังงาน

(d)    เอกสาร รวมทั้งบันทึกตามข้อกำหนด

(e)     เอกสารอื่นๆที่องค์กรเห็นว่ามีความจำเป็นในการใช้งาน

4.5.5    Operational control

องค์กรต้องจัดทำแผนการทำงานและกิจกรรมการบำรุงรักษาที่เกี่ยวกับการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญ ตามนโยบาย วัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงาน โดยคำนึงถึง

a)       จัดทำเกณฑ์การควบคุมการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเบี่ยงเบนไปจากผลงานด้านพลังงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

b)      ดำเนินการและบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภค, กระบวนการและเครื่องมือในการใช้พลังงาน

c)       มีการสื่อสารที่เหมาะสมกับบุคลากรที่ควบคุมการใช้พลังงาน

4.5.6    การออกแบบ (Design)

              องค์กรต้องพิจารณาโอกาสในการปรับปรุงและควบคุมการออกแบบของสาธารณูปโภค, เครื่องมือ, ระบบและกระบวนการซึ่งมีผลกระทบต่อ EnMS ที่จัดทำขึ้นมาใหม่, ปรับแต่งและซ่อมแซม ส่วนผลการประเมินผลงานของการใช้พลังงานจะต้องพิจารณาอย่างเหมาะสมเมื่อมีกิจกรรมของโครงการในประเด็นของข้อกำหนด, การออกแบบและการจัดหาจัดจ้าง ผลการออกแบบจะต้องจัดเก็บเป็นบันทึก

4.5.7    การจัดหาจัดจ้างบริการ, สินค้า, เครื่องมืออุปกรณ์ด้านพลังงาน (Procurement of energy services, products, equipment and energy)

              เมื่อมีการจัดหาจัดจ้างบริการ, สินค้า, เครื่องมืออุปกรณ์ด้านพลังงาน องค์กรจะต้องแจ้งให้ผู้ขายทราบว่าการจัดหาจัดจ้างนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงานด้านพลังงานด้วย

              องค์กรจะต้องจัดทำเกณฑ์การประเมินและประสิทธิภาพของการใช้พลังงานเมื่อมีการใช้บริการ, สินค้า, เครื่องมืออุปกรณ์ด้านพลังงานตามที่วางแผนไว้ นอกจากนี้องค์กรจะต้องจัดทำข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

4.6   การตรวจสอบ (Checking)

4.6.1    การเฝ้าติดตาม, การวัดและการวิเคราะห์ (Monitoring, measurement and analysis)

              องค์กรจะต้องมั่นใจว่าคุณลักษณะที่สำคัญของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพนั้นถูกเฝ้าติดตาม, วัดผลและวิเคราะห์ตามแผนที่กำหนด ผลการเฝ้าติดตามและการตรวจวัดจะต้องจัดเก็บเป็นบันทึก แผนการตรวจวัดด้านพลังงานให้เหมาะสมกับความซับซ้อนของขนาดองค์กร, การใช้อุปกรณ์เครื่องมือวัดและเฝ้าติดตาม

4.6.2    การประเมินความสอดคล้องตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ (Evaluation of legal requirements and other requirements)

              องค์กรต้องประเมินความสอดคล้องการใช้พลังงานตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆที่เกี่ยวข้องตามช่วงเวลาที่วางแผน และผลการประเมินความสอดคล้องต้องจัดเก็บเป็นบันทึก

4.6.3    การตรวจประเมินภายในของระบบการจัดการพลังงาน (Internal audit of the EnMS)

              องค์กรต้องจัดการตรวจประเมินภายในตามแผนที่กำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเตรียมที่วางแผนตามการจัดการพลังงาน รวมถึงข้อกำหนดและเพื่อให้การปฏิบัติงาน และปรับปรุงการจัดการพลังงาน

แผนการตรวจประเมินต้องพิจารณาจากสถานะและความสำคัญของกระบวนการและพื้นทีที่ถูกตรวจประเมิน เช่นเดียวกับผลการตรวจประเมินครั้งที่ผ่านมา การคัดกรองผู้ตรวจประเมินจะต้องเป็นอิสระและไม่ตรวจประเมินกระบวนการที่ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้อง บันทึกผลการตรวจประเมินต้องจัดเก็บและรายงานต่อผู้บริหารระดับสูง

4.6.4    ความไม่สอดคล้อง, การแก้ไขและการป้องกัน (Nonconformities, correction, corrective, and preventive action)

              องค์กรต้องจัดการความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกิดขึ้นแล้วหรืออาจจะเกิด โดยการแก้ไขเฉพาะหน้า การปฏิบัติการแก้ไขและป้องกัน

การปฏิบัติการแก้ไขหรือป้องกันต้องเหมาะสมกับความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นจริง หรืออาจจะเกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบจากผลงานด้านพลังงาน อย่างไรก็ตามองค์กรต้องมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆที่จำเป็นนั้นต้องดำเนินการภายใต้ EnMS

4.6.5    การควบคุมบันทึก (Control of records)

องค์กรต้องจัดทำและจัดเก็บบันทึกที่จำเป็นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องตามข้อกำหนด EnMS และการบรรลุผลสำเร็จของการจัดการพลังงาน องค์กรต้องกำหนดและควบคุมการชี้บ่ง, การเรียกใช้และอายุการจัดเก็บบันทึกให้เหมาะสม โดยบันทึกต้องอ่านได้, ถูกชี้บ่งและสามารถสอบกลับได้

4.7   การทบทวนฝ่ายบริหาร ( Management review)

4.7.1    บททั่วไป (General)

              ผู้บริหารระดับสูงต้องทบทวน EnMS ในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าประสิทธิผลและความเหมาะสมของระบบการจัดการพลังงาน โดยต้องจัดเก็บผลการประชุมทบทวนเป็นบันทึก

4.7.2    ปัจจัยนำเข้าของการประชุมทบทวนฝ่ายบริหาร (Input to management review)

              ปัจจัยนำเข้าสู่การประชุมทบทวนฝ่ายบริหารมี 9 หัวข้อ ดังนี้

a)       ติดตามผลการประชุมครั้งที่แล้ว

b)      ทบทวนนโยบายพลังงาน

c)       ทบทวนผลงานด้านพลังงาน และตัวชี้วัดด้านพลังงาน

d)      ผลการประเมินความสอดคล้องตามกฎหมาย และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆที่องค์กรเกี่ยวข้อง

e)       ขอบเขตของวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงานที่ดำเนินการ

f)         ผลการตรวจประเมิน EnMS

g)      สถานการณ์แก้ไขและป้องกัน

h)       ผลการดำเนินงานตามโครงการด้านพลังงานที่ติดตามในแต่ละช่วงเวลา

i)         ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุง

4.7.3    ผลการประชุมทบทวนฝ่ายบริหาร (Output from management review)

              ผลการประชุมทบทวนฝ่ายบริหาร ต้องครอบคลุมถึงการตัดสินใจหรือการดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับ

a)       การเปลี่ยนแปลงในผลงานด้านพลังงานขององค์กร

b)      การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายพลังงาน

c)       การเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดด้านพลังงาน

d)      การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์, เป้าหมายหรือการดำเนินงานอื่นๆของ EnMS, ความรับผิดชอบขององค์กรในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และการจัดสรรทรัพยากร

สรุปข้อกำหนด ISO 50001:2011 Energy management systems — Requirements with guidance for use บทความนี้ ผู้เขียนนำมาสรุปเรียบเรียง โดยย่อ แต่ฉบับเต็มนั้น ผู้เขียนโพสต์ลงในหมวดทะเบียนกฎหมายและเอกสารอื่นที่น่าสนใจครับ ลองเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมนะครับ ตามลิงค์ข้างล่างนี้

http://www.pyccenter.com/images/file/20110706223243_file2.pdf

 

*****End of Article*****

 

ผู้ชม 21,092 วันที่ 06 กรกฎาคม 2554