ISO 50001 (DIS)  ระบบมาตรฐานการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System)
ปิยะชัย จันทรวงศ์ไพศาล
 
ปัจจุบันวิกฤติพลังงานเป็นปัญหาของนานาประเทศที่ต้องดำเนินการแก้ไขบรรเทาโดยเร็ว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากต้นทุนพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับพลังงานใต้พื้นพิภพ (fossil fuel) เริ่มหมดลงไปเรื่อยๆและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas-GHG)   ดังนั้น พลังงานทดแทน หรือ พลังงานทางเลือก จึงเป็นประเด็นสำคัญต่อประเทศต่างๆให้การสนับสนุน พร้อมทั้งการรณรงค์การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด และการประหยัดพลังงานแก่โรงงานอุตสาหกรรม, อาคารบ้านเรือน, องค์กรธุรกิจต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐ
 
 องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization : ISO) จึงได้จัดทำร่างมาตรฐานแรก (DIS) ISO 50001 เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารจัดการพลังงานสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม, ธุรกิจการค้าและองค์กรต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายในการลดการใช้พลังงานของโลกลงให้ได้ประมาณร้อยละ 60  สำหรับระบบเอกสารก็เป็นเช่นเดียวกับระบบมาตรฐานการบริหารจัดการ ISO ต่างๆ และสามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากันได้กับระบบ ISO 9001 และ ISO 14001
ประโยชน์ของ ISO 50001 ได้แก่
·            เป็นกรอบสำหรับบูรณาการประสิทธิภาพด้านพลังงานในการบริหารจัดการ
·            เพิ่มอรรถประโยชน์ของสินทรัพย์ที่ใช้พลังงานให้ดีขึ้น
·            เพื่อเป็นแนวทางการเปรียบเทียบ, การตรวจวัด, การจัดทำเอกสารและรายงานการปรับปรุงด้านพลังงานและโครงการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG)
·            เพิ่มความโปร่งใสและสื่อสารการบริหารจัดการของทรัพยากรด้านพลังงาน
·            เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นแนวทางจากการปฏิบัติงานที่ดีที่สุด (best practice)ด้านการบริหารจัดการพลังงานและการบริหารจัดการที่ดีด้านพลังงาน
·            ประเมินผลและจัดลำดับความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิผลด้านพลังงาน
·            เป็นกรอบการทำงานสำหรับการสนับสนุนประสิทธิผลด้านพลังงานตลอดทั้งโครงการ
·            ปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการด้านพลังงานสำหรับโครงการลดก๊าซเรือนกระจก
คณะทำงานที่ ISO/PC 242 พัฒนา มาตรฐาน ISO 50001 การบริหารจัดการพลังงาน โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวมาจากประเทศสมาชิก 42 ประเทศและอีก 10 ประเทศผู้สังเกตการณ์ คาดว่า มาตรฐาน ISO 50001 จะประกาศใช้ภายในต้นปี 2011(อ้างอิง http://www.iso.org/iso/pressrelease.htm?refid=Ref1337
 
สำหรับประเทศไทย สมอ. กำหนดแผนในการจัดทำมาตรฐาน ISO 50001 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2554 โดยมีแผนการดำเนินงาน ดังนี้
พฤศจิกายน - ธันวาคม 2552-----จัดทำร่างมาตรฐาน ISO/DIS 50001
มกราคม 2553-----ส่งร่างมาตรฐาน ISO/DIS 50001 ให้ ISO พิจารณา
กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2553-----เวียนขอความเห็นชอบและข้อคิดเห็นร่างมาตรฐาน ISO/DIS 50001จาก ประเทศสมาชิกประเภท P-member
กันยายน 2553-----การประชุมครั้งที่ 4 เพื่อจัดทำร่างมาตรฐาน ISO/FDIS 50001
ตุลาคม 2553-----ส่งร่างมาตรฐาน ISO/FDIS 50001 ให้ ISO พิจารณา
พฤศจิกายน 2553 - มกราคม 2554-----เวียนขอความเห็นชอบและข้อคิดเห็นร่างมาตรฐานISO/FDIS 50001 จากประเทศสมาชิกประเภท P-member
มีนาคม 2554------การประชุมครั้งที่ 5 เพื่อจัดทำร่างมาตรฐาน ISO 50001
เมษายน 2554------ส่งร่างมาตรฐาน ISO 50001 ให้ ISO พิจารณา
พฤษภาคม 2554-----ประกาศใช้มาตรฐาน ISO 50001
 
สำหรับการจัดทำมาตรฐาน ISO 50001 ขึ้นในประเทศไทยนั้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปรับปรุง Energy performance, Energy efficiency และ Energy intensity รวมถึงการลดต้นทุนด้านพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ให้กับองค์กรที่นำระบบดังกล่าวมาใช้
องค์กรที่นำมาตรฐาน ISO 50001 ไปใช้ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ดังนี้ ลดอุปสรรคทางการค้าจากนโยบายด้านพลังงาน เพิ่มโอกาสในการสร้างตลาดโลกสำหรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพพลังงาน สนับสนุนให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการพลังงาน ช่วยสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคด้านพลังงาน ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงการปรับนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกัน
โดยมาตรฐานดังกล่าวยังระบุข้อกำหนดสำหรับองค์กรในการจัดทำ เพื่อนำไปปฏิบัติและปรับปรุงระบบการจัดการพลังงาน ซึ่งองค์กรสามารถปรับปรุงสมรรถนะ ประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างต่อเนื่อง ระบบการจัดการพลังงานดังกล่าวครอบคลุมถึงการจัดหาพลังงาน การตรวจวัด และการรายงานการใช้พลังงาน ตลอดจนการจัดซื้อและการออกแบบวิธีปฏิบัติในการใช้เครื่องมือ รวมถึงระบบและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน
ทั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มาตรฐานดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้โดยเร็ว เช่น กระทรวงพลังงาน มีการกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงาน ออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศที่เกี่ยวข้อง อบรมผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน และอบรมผู้ตรวจประเมินการจัดการพลังงาน เป็นต้น
สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ช่วยดำเนินการในเรื่อง การแต่งตั้งกรรมการเพื่อกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงาน ร่างมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน รวมถึงการจัดทำโครงการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานร่วมกับ UNIDO และการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง(ที่มา :  สุนันทา อักขระกิจ, “ สมอ. รักษ์โลกกับ ISO 50001 “ อ้างอิงจาก http://www.boi.go.th/thai/download/publication_economy_extra/254/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD.%20%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%20ISO%2050001%2018%20%E0%B8%A1.%E0%B8%84.%2053.pdf)
 
หมายเหตุ ISO 50001:2011 ประกาศเผยแพร่แล้วเมื่อวันที่ 15 มิย 2554 ครับ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่บทความตามลิงค์ข้างล่างนี้เลยครับ
 
*****End of Article*****

ผู้ชม 9,754 วันที่ 21 กันยายน 2553