ISO 26000 : ISO ตัวใหม่มาแรงที่บริษัทต้องจับตามอง (ตอนที่ 1/4)

 

ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected] ; [email protected]

ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ SR (Social Responsibility) กำลังจะเป็นมาตรฐานสากลที่ไม่มีใครปฏิเสธได้อีกต่อไป เมื่อองค์กรสากลว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO (International Organization for Standardization) จัดทำมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า “ ISO Guidance Standard on Social Responsibility - ISO 26000 โดยสถานะล่าสุดของ ISO 26000 กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่จะส่งให้ประเทศสมาชิกพิจารณาเป็นฉบับร่างสุดท้าย (FDIS) ราวเดือนสิงหาคม-กันยายน 2553 และจะประกาศใช้ในราวเดือนพฤศจิกายนปลายปี 2553 นี้

 

อนึ่ง ISO 26000 จะใช้คำว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม - Social Responsibility (SR) ไม่ใช่  ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร -Corporate Social Responsibility  (CSR) เนื่องจากองค์กร ISO มองว่าข้อกำหนดความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งองค์กรภาครัฐและบริษัทเอกชนได้  หากจะใช้เฉพาะคำว่า “CSR” อาจจจะเป็นความคลาดเคลื่อนที่จะมุ่งเน้นไปที่บริษัทเอกชนเท่านั้น (ผู้สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

http://isotc.iso.org/livelink/livelink/fetch/2000/2122/830949/3934883/3935096/home.html )

 

CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร เป็นแนวคิดใหม่ที่ประเทศพัฒนาแล้วอาจนำมาใช้เป็นเงื่อนไขใหม่ในการทำธุรกิจค้าขายกับประเทศต่าง ๆที่กำลังพัฒนา อย่างประเทศไทย ซึ่งถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีรูปแบบหนึ่ง หากองค์กรธุรกิจใดไม่เร่งปรับตัวให้เข้ากับแนวคิดดังกล่าวก็อาจถูกปฏิเสธการค้าและการลงทุนได้  เราต้องยอมรับว่า หากสังคมไม่สามารถอยู่ได้ องค์กรธุรกิจก็ย่อมไม่สามารถดำรงอยู่ได้เช่นกัน

 

นิยาม CSR

World Business Council for Sustainable Development  นิยามความหมายของ CSR ว่าเป็น ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องขององค์กรต่อการปฏิบัติตาม พันธสัญญา ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ พร้อมไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน และครอบครัวตลอดจนชุมชนและสังคม

 

The European Foundation for Quality Management นิยาม CSR ว่าเป็น  แนวคิดที่ผสานความใส่ใจต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมไว้ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใต้พื้นฐาน การกระทำตามความสมัครใจ

(ที่มา : เอกสารประกอบคำบรรยาย การบริหารงานอย่างแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อสร้างมูลค่กิจการ ของ ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ไกรสรสุธาสินี)

 

ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยมาตรฐานการแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม พศ.2552 (Standard for Corporate Social Responsibility: CSR-DIW) นิยาม CSR หมายถึง ความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการตัดสินใจขององค์กรนั้นๆ โดยแสดงถึงความโปร่งใสและมีจรรณยาบรรณ โดยพฤติกรรมกิจกรรมขององค์กร รวมไปถึงสินค้าและบริการดังกล่าวจะต้อง

-     สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสวัสดิภาพสังคม

-     สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้ถือประโยชน์

-     เป็นไปตามกฎหมายที่บังคับใช้และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

-     สามารถนำมาบูรณาการกับทั้งองค์กรได้

 

 

ดังนั้น การปฏิบัติตามแนวคิดของ CSR จึงไม่เพียงมุ่งเน้นที่ผลกระทบต่อลูกค้าและการบริหารภายในองค์กรเพื่อประโยชน์ผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่จะต้องคำนึงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม การสนับสนุนเสรีภาพของแรงงาน และการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนด้วย การดำเนินงานตามแนวคิด CSR ยังคงคำนึงถึงหลักการดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลัก Triple Bottom Line 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ (Economic) , สังคม (Social)  และสิ่งแวดล้อม (Environment)

 

ผู้ชม 4,063 วันที่ 27 มิถุนายน 2553