ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นของกฎหมายว่าด้วยการจัดการสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย

ดร.ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

 

เมื่อเร็วๆนี้ ผู้เขียนมีโอกาสไปบรรยายการจัดการสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตรายให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ประกอบกับผลจากการตรวจประเมินระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2004 ในช่วงเวลานี้ พบว่า ยังมีผู้ประกอบการจำนวนมากยังคงปฏิบัติงานไม่สอดคล้องตามกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดการสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ผู้ประกอบการบางรายสูญเสียโอกาสในการนำเข้าส่งออกสารเคมีที่ถูกต้อง ดังนั้น จึงขอสรุปความเข้าใจในการจัดการสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตรายให้ถูกต้อง ดังต่อไปนี้

1.   หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยการจัดการสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตรายไม่ใช่มีเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงาน เท่านั้น  ท่านเชื่อหรือไม่ว่ามีหน่วยงานราชการ ไม่น้อยกว่า 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย อาทิเช่น

·         สำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการป้องกันอุบัติภัยพ.ศ.2538

  • กระทรวงการคลัง   รับผิดชอบ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และฉบับแก้ไข (14 ครั้ง) พ.ศ.2543 ซึ่งควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารเคมีอันตราย
  • กระทรวงกลาโหม   รับผิดชอบ พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ.2490และฉบับแก้ไข(4ครั้ง) พ.ศ. 2530
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   รับผิดชอบ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518
  • กระทรวงอุตสาหกรรม    รับผิดชอบ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510 และพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหยพ.ศ.2533
  • กระทรวงสาธารณสุข   รับผิดชอบ พระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ.2535 พระราชบัญญัติยาพ.ศ.2510 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 พระราชบัญญัติอาหารพ.ศ.2522 พระราชบัญญัติเครื่องสำอางพ.ศ.2535 พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์พ.ศ. 2531 ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการรับผิดชอบ พระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหยพ.ศ.2533
  • กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม   รับผิดชอบ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ.2535 พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติพ.ศ.2504 และฉบับแก้ไขพ.ศ.2508
  • กระทรวงมหาดไทย   รับผิดชอบ พระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายผลเรือนพ.ศ.2522 พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัยพ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ.2542
  • กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม   รับผิดชอบ พระราชบัญญัติแรงงานพ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติเงินทดแทนพ.ศ.2537
  • กระทรวงคมนาคม   รับผิดชอบ พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2542 พระราชบัญญัติทางขนส่งทางบกพ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทยพ.ศ.2456 และฉบับแก้ไข(14) พ.ศ. 2535 ซึ่งมีบทบังคับในการควบคุมการขนส่งสารเคมีอันตราย
  • กระทรวงพาณิชย์   รับผิดชอบ พระราชบัญญัติคุ้มครองโภคภัณฑ์ พ.ศ.2495

2.    ด้วยเหตุนี้  ผู้ประกอบกิจการต้องทราบตัวเองก่อนว่าสถานประกอบกิจการของท่านเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการใดบ้าง และสารเคมีอันตรายดังกล่าว ไปอยู่ในบัญชีใดของหน่วยงานใด เช่น ใช้ในการเกษตร หรือ ใช้ในการผลิตยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น  โดยให้ไปดูรายละเอียดของสารเคมีดังกล่าวในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖

3.  ในกรณีที่ท่านนำเข้าหรือส่งออกสารเคมีโดยตรงในนามของบริษัทของท่านเอง จะต้องคำนึงถึงพิกัดภาษีศุลกากร และต้องพิจารณาด้วยว่าสารเคมีดังกล่าวอยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบด้วยหรือไม่  โดยทั่วไป ผู้เขียนแนะนำให้เริ่มต้นการขอรายละเอียดของสารเคมีดังกล่าว เช่น ข้อมูลด้านความปลอดภัย (MSDS-Material Safety Data Sheet)  โดยต้องดำเนินการตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งข้อเท็จจริงของผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออก ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ (วอ./อก.๖) โดยผ่านระบบสัญญาณคอมพิวเตอร์เข้ากับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๕๕ และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม   เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริงของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. 2547 ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติงานดังนี้

วัตถุอันตรายชนิดที่

·         ไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่ต้องยื่นแจ้งตามแบบฟอร์ม วอ./อก.6 ไปที่สำนักควบคุมวัตถุอันตรายกรมโรงงานอุตสาหกรรม  เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนนำเข้ามาในราชอาณาจักร

·         เอกสารที่ใช้ได้แก่ สำเนา Bill of Loading (B/L) และ  Invoice

·         สำเนาเอกสารแบบแจ้งวอ./อก6 จำนวน  2 ชุด 

วัตถุอันตรายชนิดที่ 2

·         จะต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย (วอ./อก.1)

·         จะต้องแจ้งตามแบบฟอร์มใบรับแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ 2

·         ยื่นแจ้ง วอ./อก.6 ก่อนนำเข้า

·         จะต้องมีสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นไปตาม พรบ.วัตถุอันตรายและประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม  เรื่อง การเก็บรักษาวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ พ.ศ. 2551

วัตถุอันตรายชนิดที่ 3

·         จะต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย (วอ./อก.1)

·         จะต้องมีใบอนุญาต และได้รับการอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนจึงจะนำเข้าได้

·         จะต้องมีสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นไปตาม พรบ.วัตถุอันตรายและประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม  เรื่อง การเก็บรักษาวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ พ.ศ. 2551

·         ต้องยื่นแจ้ง วอ./อก.6 ก่อนนำเข้า

·         ใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี และ 3 ปี และมีเงื่อนไขกำกับการอนุญาตในบางรายการ

4.  หากสถานประกอบกิจการมีการครอบครองวัตถุอันตรายใดๆใน 53 รายการตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม   เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริงของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. 2547  จะต้องยื่นแบบ วอ.อก.7 ด้วย และเป็นที่น่าสังเกตว่าวัตถุอันตรายที่ต้องยื่นแบบวอ.อก.6 และแบบวอ.อก.7 จะต้องยื่นแบบสอ. 1 ด้วยเช่นกัน

5.  ให้ตรวจสอบรายการสารเคมีอันตรายตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง บัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย จะต้องยื่นแบบสอ.1 ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย อย่างไรก็ตามสถานประกอบกิจการยังคงต้องตรวจสภาพแวดล้อมในการทำงานและตรวจสุขภาพนักงานตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖ เพียงแต่ไม่ต้องยื่นเอกสารให้ทางราชการเท่านั้น

6.  แต่หากสถานประกอบกิจการใดที่มีการนำเข้า ส่งออกหรือครอบครองวัตถุอันตรายที่อยู่ในข่ายความรับผิดชอบของหน่วยงานใดก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานนั้นๆ เช่น ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการขอต่ออายุใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พ.ศ. ๒๕๕๖, ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้รับจ้าง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมปศุสัตว์เป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นต้น

โดยสรุป ผู้เขียนแนะนำให้สถานประกอบกิจการจัดทำทะเบียนรายการสารเคมีและวัตถุอันตรายที่มีไว้ในครอบครอง แล้วหลังจากนั้นจึงจัดทำข้อมูลด้านความปลอดภัย (MSDS-Material Safety Data Sheet) ฉบับภาษาไทย เท่านั้น พร้อมกับยื่นแบบ สอ.1 ตามลำดับ เนื่องจากข้อมูลด้านความปลอดภัย เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการพิจารณาแบบขออนุญาตต่างๆของสารเคมีและวัตถุอันตราย รวมถึงพิกัดภาษีศุลกากรด้วยเช่นกัน

*****End of Article*****

ผู้ชม 5,488 วันที่ 24 สิงหาคม 2557