เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเฉพาะด้าน

ดร.ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล (Ph.D)

[email protected], [email protected]

 

จากพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๔๙ กำหนดให้สถานประกอบกิจการมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.) ประจำสถานประกอบกิจการอย่างน้อย 1 คนเพื่อปฏิบัติงานเฉพาะด้านความปลอดภัย และเมื่อเร็วๆนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์การทดสอบและออกหนังสือรับรองเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเฉพาะด้าน  และประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การทดสอบและออกหนังสือรับรองเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพเชี่ยวชาญประเภทกิจการก่อสร้าง ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2557 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป  ผู้เขียนขอสรุปความรายละเอียดของทั้งสองประกาศ ดังนี้

ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์การทดสอบและออกหนังสือรับรองเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเฉพาะด้าน  ระบุชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเฉพาะด้าน  หมายถึง ผู้ซึ่งเป็นบุคลากรด้านความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอบกิจการที่ผ่านการทดสอบ ความพร้อมเชิงคุณภาพและได้รับหนังสือรับรองของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยจำแนกประเภทเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเฉพาะด้าน  เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

1. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเชี่ยวชาญด้านกิจการเหมืองแร่ ปิโตรเลียม ปืโตรเคมี 

2. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเชี่ยวชาญด้านกิจการผลิต

3. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเชี่ยวชาญด้านกิจการก่อสร้าง

4. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเชี่ยวชาญด้านกิจการขนส่ง

5. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเชี่ยวชาญด้านกิจการสถานีบริการหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซ

ในเบื้องต้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะมุ่งเน้นไปที่กิจการก่อสร้างก่อน ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การทดสอบและออกหนังสือรับรองเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพเชี่ยวชาญประเภทกิจการก่อสร้าง ซึ่งทำให้ทราบว่า คุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเฉพาะด้าน  ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ ที่มีคุณสมบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๔๙   โดยระบุคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

1. เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ

2. เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงและมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ไม่น้อยกว่า 1 ปี

3. เป็นผู้ที่จบการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปหรือเทียบเท่า สาขาวิศวกรรมศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

4. เป็นผู้ที่จบการศึกษาตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูงหรือเทียบเท่า ประเภทวิชาโยธาหรือก่อสร้างหรือสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง    และมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ไม่น้อยกว่า 3 ปี

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเฉพาะด้าน  ประเภทอื่นๆน่าจะมีแนวทางการกำหนดคุณสมบัติคล้ายๆกัน ที่มุ่งความเชี่ยวชาญในสาขาที่ตนรับผิดชอบ ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการให้สถานประกอบกิจการสอบถามความชัดเจนในการประเมินการทดสอบที่ดำเนินการโดยสำนักความปลอดภัยแรงงานหรือศูนย์ความปลอดภัยแรงงานพื้นที่ ในกิจการการผลิต เพราะอุตสาหกรรมการผลิตมีกระบวนการและเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายและความแตกต่างกันมาก  ด้วยเหตุนี้ แนวทางการทดสอบความพร้อมเชิงคุณภาพทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จึงควรจะแตกต่างกันตามลักษณะการผลิตด้วย  ผู้เขียนขอตั้งประเด็นคำถามว่า คณะกรรมการประเมินการทดสอบ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สำนักความปลอดภัยแรงงานหรือศูนย์ความปลอดภัยแรงงานพื้นที่เป็นกรรมการและเลขานุการนั้น มีการจัดทำแบบทดสอบแล้วแต่พื้นที่ที่รับผิดชอบ ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ แบบทดสอบดังกล่าวย่อมมีความแตกต่างกันทั้งเนื้อหารายละเอียดและเกณฑ์การประเมินผลหรือไม่ ถ้าคำตอบว่ายัง “ใช่” จะมีประเด็นคำถามว่า “ผู้เข้ารับการทดสอบจะมั่นใจได้อย่างไรว่าแบบทดสอบดังกล่าวมีมาตรฐานและเกณฑ์การประเมินผลที่เป็นมาตรฐานที่สามารถบ่งชี้ถึงทักษะ ความรู้และความสามารถของจป.วิชาชีพ เฉพาะด้าน อยู่ในระดับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับกันในวิชาชีพเฉพาะด้านดังกล่าว”

นอกจากนี้ หนังสือรับรองผู้ผ่านการทดสอบ มีอายุ 5 ปี แต่ผู้เขียนยังมีข้อสงสัยว่าหนังสือรับรองดังกล่าวมีผลเฉพาะจป.วิชาชีพเฉพาะด้าน ภายในเขตพื้นที่เดียวกันหรือไม่ ? ถ้าคำตอบว่า “ใช่” แสดงว่า การเคลื่อนย้ายจป.วิชาชีพดังกล่าวข้ามเขตพื้นที่ จะต้องเข้ารับการทดสอบใหม่ ใช่หรือไม่ ?  ถ้าคำตอบว่า “ไม่ใช่”  จะนำมาซึ่งข้อสงสัยว่าแบบทดสอบดังกล่าวมาจากคณะกรรมการประเมินการทดสอบ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สำนักความปลอดภัยแรงงานหรือศูนย์ความปลอดภัยแรงงานพื้นที่เป็นกรรมการและเลขานุการ  มีความแตกต่างกันของแบบทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติหรือไม่  แต่ในที่สุด ผู้เขียนเห็นว่า แบบทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติควรจะกำหนดเนื้อหาและเกณฑ์การประเมินผลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ แต่ไม่ทราบว่าสำนักความปลอดภัยแรงงานหรือศูนย์ความปลอดภัยแรงงานพื้นที่ จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร

ล่าสุด (ณ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2557) ทราบว่าประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์การทดสอบและออกหนังสือรับรองเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเฉพาะด้าน  และประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การทดสอบและออกหนังสือรับรองเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพเชี่ยวชาญประเภทกิจการก่อสร้าง ที่ประกาศเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2557 ยังไม่มีผลบังคับใช้ และเป็นเพียงโครงการนำร่องภาคสมัครใจ ??? เท่านั้น อีกทั้งยังไม่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 เมย.2557 จึงไม่มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์

*****End of Article*****

ผู้ชม 3,905 วันที่ 23 เมษายน 2557