การดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีวัตถุอันตรายและสารเคมีอันตราย : ทำอย่างไรให้ถูกต้อง


ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

 

ภายหลังจากที่ผู้เขียนมีโอกาสไปสอนหลักสูตร กฎหมายสิ่งแวดล้อมและเทคนิคการประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนด ISO 14001 : 2004 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา มีผู้สนใจบางรายสอบถามผู้เขียนเกี่ยวกับกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖ (ประกาศในราชกิจจาฯ วันที่ 27 กย.2556)  และประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง บัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย (ประกาศในราชกิจจาฯ วันที่ 20 ธค.2556)  ว่ามีการดำเนินการที่เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร

ผู้เขียนอธิบายในเบื้องต้นว่า กฎหมายดังกล่าว เป็นบัญชีแสดงรายชื่อของวัตถุอันตรายและสารเคมีอันตราย ที่ผู้ประกอบการมีไว้ในครอบครองเพื่อนำไปสู่การดำเนินการตามกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยถ้าผู้ประกอบการเป็นโรงงาน จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าวทั้งสองฉบับ แต่หากไม่เป็นโรงงาน จะต้องดำเนินการตาม ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ถูกต้อง ส่วนรายละเอียดของการดำเนินการนั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งเรื่องวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินการ  นอกจากนี้รายการวัตถุอันตรายของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้นยังแบ่งเป็น 4 ชนิดตามพรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535  ซึ่งผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิต หรือ ผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครอง ต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามกฎหมาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1, ในกรณีที่องค์กรเป็นโรงงาน ให้ตรวจสอบรายชื่อวัตถุอันตราย ตามบัญชี ๕ ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ เป็นเบื้องต้น  ทั้ง CAS number และชนิดของวัตถุอันตราย

2. พิจารณาว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดใด และให้ดำเนินการตามชนิดของวัตถุอันตราย

2.1 วัตถุอันตรายชนิดที่

·      ไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่ต้องยื่นแจ้งตามแบบฟอร์ม วอ./อก.6 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนไปดำเนินการตามพิธีการศุลกากร

·      จะต้องยื่นแจ้ง ตาม วอ./อก.7 ในกรณีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริง ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๔๗

2.2 วัตถุอันตรายชนิดที่ 2

·      จะต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย

·      จะต้องแจ้งตามแบบฟอร์มใบแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ 2(หลังจากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว)

·      ยื่นแจ้ง วอ./อก.6

·      จะต้องมีสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นไปตาม พรบ.วัตถุอันตรายและประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม

·      จะต้องยื่นแจ้ง ตาม วอ./อก.7 ในกรณีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริง ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๔๗

2.3 วัตถุอันตรายชนิดที่ 3

·      จะต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย

·      จะต้องมีใบอนุญาต และได้รับการอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนจึงจะนำเข้าได้

·      จะต้องมีสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นไปตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535

·      ยื่นแจ้ง วอ./อก.6

·      จะต้องยื่นแจ้ง ตาม วอ./อก.7 ในกรณีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริง ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๔๗

·      ใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี และ 3 ปี และมีเงื่อนไขกำกับการอนุญาตในบางรายการ

3.  สำหรับสารเคมีอันตรายตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง บัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายนั้น  จะต้องพิจารณา CAS number เป็นสำคัญ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ เรื่อง แนวปฏิบัติการจัดทำและยื่นเอกสารสอ.1 แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย)

3.1  หลังจากนั้นจะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖

3.2  จะต้องยื่นเอกสารแบบสอ.1 แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย  (แบบใหม่) ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย

3.3  สำหรับแบบสอ.2 (แบบรายงานความปลอดภัยและประเมินการก่ออันตรายของสารเคมีอันตรายในสถานประกอบการ), แบบสอ.3 (แบบรายงานผลการตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศบริเวณสถานที่ทำงานและสถานที่เก็บสารเคมีอันตราย) และแบบสอ.4 (แบบรายงานผลการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย) ยังไม่มีกฎหมายกำหนดแบบแจ้งโดยเฉพาะตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด  จึงยังไม่ต้องดำเนินการ ณ ขณะนี้ (15 มีค 2557) 

ผู้เขียนหวังว่า บทความนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจในแนวทางการดำเนินการตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายและบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายมากขึ้น และสามารถปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างถูกต้อง

*****End of Article******

 

ผู้ชม 6,780 วันที่ 14 มีนาคม 2557