ความเข้าใจในประกาศกำหนดสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง

ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

โดยที่พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 17 กำหนดให้นายจ้างติดประกาศสัญลักษณ์เตือนอันตรายและเครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และข้อความแสดงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด  จึงเป็นที่มาของกฎหมายประกอบ คือ ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง สัญลักษณ์เตือนอันตราย เครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และข้อความแสดงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง พ.ศ. 2554 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 พย พศ.2554 ไปแล้วนั้น ปรากฏว่ายังคงมีบริษัทจำนวนมากยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอสรุปและร่างตัวอย่างของประกาศให้ทราบดังนี้

1.   ผู้เขียนแนะนำให้จัดทำประกาศสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง เป็นลายลักษณ์อักษร และลงนามโดยผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ในฐานะนายจ้าง  ไม่ควรลงนามโดยผู้จัดการฝ่ายบุคคลหรือผู้จัดการโรงงาน เพราะแม้ว่า อาจจะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนนายจ้างก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ต้องการให้ผู้ประกอบกิจการรับทราบว่าต้องปฏิบัติหน้าที่และมีสิทธิอะไรบ้างเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

2.   ผู้เขียนไม่แนะนำให้มีการแจกจ่ายประกาศผ่านทางระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่ควรจัดทำเป็นกระดาษแสดงเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้พนักงานรับทราบโดยทั่วกัน  ทั้งนี้เพราะตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง สัญลักษณ์เตือนอันตราย  ข้อ 2 ระบุว่าให้นายจ้างติดประกาศสัญลักษณ์เตือนอันตราย และเครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เหมาะสมกับลักษณะและสภาพการทำงานในที่ที่เห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบกิจการ ดังนั้นการประกาศในเวปไซต์ภายในองค์กร จึงอาจจะไม่เหมาะสมกับสภาพการทำงานในที่ที่เห็นได้ง่ายโดยทั่วกัน

3.   สำหรับสัญลักษณ์เตือนอันตรายให้คำนึงถึงมาตรฐานสากล หรือ มาตรฐานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น สัญญลักษณ์เตือนอันตรายตามระบบ GHS (อ้างอิงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ. 2555), ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน   เรื่อง กำหนดแบบเครื่องหมายเตือนภัยในบริเวณรังสี บริเวณรังสีสูง บริเวณที่มีการฟุ้งกระจายของสารกัมมันตรังสี หรือบริเวณ หรือห้องใด ๆ ที่มีการเก็บรักษาสารกัมมันตรังสี เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เขียนแนะนำให้ศึกษามอก.635-2554 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สีและเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมภายในองค์กร

ผู้เขียนร่างตัวอย่างประกาศ กำหนดสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง ให้ผู้ที่สนใจนำไปใช้ หากท่านใดประสงค์จะขอเป็นรูปแบบ MS Word สามารถดาวน์โหลด ในหมวดทะเบียนกฎหมายและเอกสารอื่นๆที่น่าสนใจ

 

ประกาศฉบับที่ ......

เรื่อง

สิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง

 

เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และ ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง สัญลักษณ์เตือนอันตราย เครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และข้อความแสดงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง พ.ศ. 2554

บริษัทจึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ดังต่อไปนี้

1.        นายจ้างและลูกจ้างมีหน้าที่ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

2.        นายจ้างมีหน้าที่จัดและดูแลสถานประกอบกิจการและลูกจ้างให้มีสภาพการทำงาน และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของลูกจ้าง มิให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพอนามัย

3.        นายจ้างมีหน้าที่จัด และดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐาน ถ้าลูกจ้างไม่สวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว ให้นายจ้างสั่งให้หยุดการทำงาน จนกว่าลูกจ้างจะสวมใส่อุปกรณ์นั้น

4.        นายจ้างมีหน้าที่จัดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรมให้สามารถบริหารจัดการและดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้อย่างปลอดภัยก่อนการเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์

5.        นายจ้างมีหน้าที่แจ้ง ให้ลูกจ้างทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน และแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่ลูกจ้างจะเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน

6.        นายจ้างมีหน้าที่ติดประกาศคำเตือนคำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พนักงานตรวจความปลอดภัยหรือ คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน แล้วแต่กรณ

7.        นายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

8.        ลูกจ้างมีหน้าที่ให้ความร่วมมือกับนายจ้างในการดําเนินการและส่ง เสริมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยคำนึงถึงสภาพของงานและหน้าที่รับผิดชอบ

9.        ลูกจ้างมีหน้าที่แจ้งข้อบกพร่องของสภาพการทำงาน หรือการชำรุดเสียหายของอาคาร สถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองต่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หัวหน้างาน หรือผู้บริหารทราบ

10.      ลูกจ้างมีหน้าที่สวมใส่อุปกรณ์ คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่นายจ้างจัดให้และดูแลให้สามารถใช้งานได้ตามสภาพและลักษณะของงานตลอดระยะเวลาทำงาน

11.      ในสถานที่ที่มีสถานประกอบกิจการหลายแห่งอยู่รวมกัน  ลูกจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของนายจ้าง และสถานประกอบกิจการอื่นที่ไม่ใช่ของนายจ้างด้วย

12.      ลูกจ้างมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการเลิกจ้าง หรือ ถูกโยกย้ายหน้าที่การงานเพราะเหตุฟ้องร้อง  เป็นพยานให้หลักฐาน หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ต่อพนักงานตรวจความปลอดภัย คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือศาล

13.      ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์อื่นใด ในระหว่างหยุดการทำงานหรือหยุดกระบวนการผลิตตามคำสั่งของพนักงานตรวจความปลอดภัย เว้นแต่ลูกจ้างที่จงใจกระทำการอันเป็นเหตให้มีการหยุดการทำงาน หรือหยุดกระบวนการผลิต

 

ประกาศ ณ วันที่ ....................................

ประธานบริษัท/กรรมการผู้จัดการ

 

ผู้ชม 10,159 วันที่ 07 ตุลาคม 2556