แนวโน้มของมาตรฐานแรงงงานไทย (มรท.8001) และพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.๒๕๕๔

ดร.ปิยะชัย   จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

 

สืบเนื่องจากที่ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตร ผู้ตรวจประเมินรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (ภาคเอกชน) ในโครงการพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ตรวจประเมินรับรองมาตรฐานแรงงานไทย ของสำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน ช่วงวันที่ 9-12 เมษายน พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้เชียนได้รับความรู้ความเข้าใจมากขึ้นจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับวิทยากรผู้ทรงความรู้หลายท่าน  จึงมองเห็นปัญหาและอุปสรรคด้านแรงงานไทยในอนาคตในหลากหลายมิติดังนี้

1.       1. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคตจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการมากขึ้นแล้วก็ตาม

2.       2. ปัจจัยคุกคามภายนอกจากการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ให้สำเร็จในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ.2558) ย่อมทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุนเสรีในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  แรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปหรือแรงงานที่มีทักษะฝีมือเฉพาะทางจะเผชิญกับแรงงานจากต่างประเทศที่เข้ามา และแรงงานกลุ่มวิชาชีพเฉพาะด้านที่มีทักษะฝีมือสูง เช่น แพทย์, พยาบาล, วิศวกร, สถาปนิก ฯลฯ อาจจะไหลออกไปทำงานที่ต่างประเทศ เพราะมีรายได้ที่สูงกว่าทำงานในไทย

3.        3. ปัจจัยคุกคามภายใน เนื่องจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการระดับ SME หลายรายไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ และทำให้เกิดการชะงักงันของการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทต่างจังหวัดเข้าสู่เขตเมืองอุตสาหกรรม  ทำให้เกิดการขึ้นราคาค่าจ้างแรงงานในเขตเมืองอุตสาหกรรมเพื่อช่วงชิงกำลังแรงงานเข้ามาทำงาน แน่นอนที่สุด ต้นทุนค่าแรงบางส่วนจะถูกผลักให้เป็นภาระของผู้ประชาชนผู้บริโภคในที่สุด

4.        4. ผู้บริหารของหน่วยงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ หรือ ฝ่ายบุคคลจะต้องมุ่งเน้นไปการบริหารแรงงานสัมพันธ์ภายในองค์กร, ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพราะปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้างด้านสวัสดิการและด้านรายได้ของสถานประกอบการหลายแห่งทั่วประเทศ อันเป็นผลสืบเนืองมาจากปัญหาค่าจ้างแรงงาน โดยผู้ประกอบการหลายแห่งจะเริ่มลงทุนเครื่องจักรแทนการใช้กำลังคน ดังนั้น แรงงานส่วนเกินจะถูกปลดออกจากสถานประกอบการจำนวนมาก ไม่เฉพาะในเขตเมืองอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่รวมถึงอุตสาหกรรมในเขตต่างจังหวัดที่มีปัญหาค่าจ้าง 300 บาทด้วยเช่นกัน

5.    5. จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และประชาคมรอบข้างของสถานประกอบการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน หรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านแรงงาน ที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถรองรับปัญหาแรงงานทั่วประเทศ ที่มีกำลังแรงงานจากผู้ประกอบการนับแสนรายในอนาคตได้อย่างแน่นอน  ย่อมนำมาซึ่งการผลักดัน.ให้หน่วยงานภาครัฐเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้าสู่มาตรฐานมรท. 8001 โดยผู้ประกอบการายใหญ่จะเข้าสู่มาตรฐาน มรท.8001 ก่อนและในระยะต่อไปผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจะเข้าสู่มาตรฐาน มรท.8001 ตามลำดับด้วยเช่นกัน  แม้ว่ามาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001) จะเป็นมาตรฐานสมัครใจ แต่กฎหมายด้านแรงงานมีสภาพบังคับที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น การได้รับการรับรองมรท.8001 จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐมั่นใจได้ว่าผู้ประกอบการดังกล่าวสามารถเข้าถึงกฎหมายด้านแรงงานและปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิผล  แน่นอนที่สุด ความเข้มงวดของกฎหมายด้านแรงงานและสวัสดิการจะเริ่มบังคับใช้มากขึ้น โดยเฉพาะการคุ้มครองแรงงานที่ถูกบังคับ (Forced labour) เป็นสำคัญ

หมวดความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้มรท.8001-2553 เป็นอีกหมวดหนึ่งที่น่าสนใจ โดยมีพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.๒๕๕๔ เป็นกฎหมายหลัก ซึ่งผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมในบางประเด็นที่เกี่ยวกับพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.๒๕๕๔ ดังนี้

1.       1. นายจ้าง ให้หมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการซึ่งยอมให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมาทำงานหรือทำประโยชน์ให้แก่ หรือในสถานประกอบกิจการ ไม่ว่าการทำงานหรือการทำผลประโยชน์นั้นจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการนั้นหรือไม่ก็ตาม  และนิยามของลูกจ้าง ให้หมายความรวมถึง ลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและรวมถึงผู้ซึ่งได้รับความยินยอมให้ทำงานหรือทำประโยชน์ให้แก่หรือในสถานประกอบกิจการของนายจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม

ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจว่า หากเราจ้างบุคคลภายนอกมาทำงานภายในสถานประกอบกิจการ เช่น มาซ่อมเครื่องจักร, มาทำงานในสายการผลิต (subcontractor) เป็นต้น ย่อมเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของนายจ้างที่จะต้องกำกับดูแลเขาเหล่านั้นให้ทำงานด้วยความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย จิตใจและสุขอนามัยของเขาด้วยเสมือนหนึ่งเป็นลูกจ้างของสถานประกอบกิจการเองเช่นกัน 

2.       2. จากม.๑๘ ในกรณีที่สถานที่ใดมีสถานประกอบกิจการหลายแห่งให้นายจ้างทุกรายของสถานประกอบกิจการในสถานที่นั้น มีหน้าที่ร่วมกันดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน.ให้เป็นไปตามพรบ.นี้  

ความหมายก็คือว่า ภายใต้ขอบเขตของสถานที่หนึ่ง หากมีหลายๆสถานประกอบกิจการอยู่ในสถานที่เดียวกันนั้น  นายจ้างของสถานประกอบกิจการเหล่านั้นมีหน้าที่ร่วมกันในการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน.ด้วย เช่น ซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟร่วมกัน, กำหนดมาตรการความปลอดภัยในการทำงานร่วมกันของผู้ปฏิบัติงาน ยกตัวอย่างเช่น  โรงงาน 2 โรงตั้งอยู่สถานที่เดียวกัน โรงงานที่ 1 มีสถานีก๊าซไวไฟเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต  โรงงานที่ 2  เป็นโรงงานกลึงไสกัดเจียร์ โลหะ จะต้องกำหนดเขตห้ามทำงานใดๆมิให้ก่อให้เกิดประกายไฟใกล้กับสถานีก๊าซไวไฟของโรงงานที่ 1 ในอาณาเขตพื้นที่โรงงานของตน เป็นต้น

3.        3. จาก ม.๑๙  ในกรณีที่นายจ้างเช่าอาคาร สถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่นำมาใช้ในสถานประกอบกิจการ ให้นายจ้างมีอำนาจดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับอาคาร สถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์หรือสิ่งอื่นใดที่เช่านั้นตามาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๘

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในอาคาร สถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์หรือสิ่งอื่นใดซึ่งให้เช่าหรือผู้ให้เช่าในอันที่จะเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าทดแทนใดๆตลอดจนการบอกเลิกสัญญาเช่า 

ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบกิจการที่จำเป็นต้องปรับปรุงอาคารสถานที่ให้มีความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจและสุขอนามัยแก่ลูกจ้างตามพรบ.นี้ จะกล่าวอ้างว่าไม่สามารถปรับปรุงอาคารสถานที่ได้เนื่องจากติดสัญญาเช่า ย่อมไม่อาจยกขึ้นมาอ้างได้ และรวมถึงผู้ให้เช่าจะกล่าวอ้างห้ามปรับปรุง หรือบอกเลิกสัญญาอันเนื่องมาจากการปรับปรุงอาคารสถานที่ดังกล่าวตามพรบ.นี้ ย่อมกระทำมิได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ประตูทางออกฉุกเฉินที่มีเพียงทางเดียว ต้องปรับปรุงให้มีทางออกอีกทางหนึ่ง เป็นต้น

4.       4. จากบทเฉพาะกาล ม.๗๔  ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ประกาศหรือระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพรบ.นี้ ให้นำกฎกระทรวงที่ออกตามความในหมวด ๘ แห่งพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ซึ่งได้แก่

                4.1  กฎกระทรวงฯเกี่ยวกับการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ.๒๕๔๗

                4.2  กฎกระทรวงฯเกี่ยวกับรังสีชนิดก่อไอออน พ.ศ.๒๕๔๗

                4.3  กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างฯ พ.ศ.๒๕๔๗

                4.4  กฎกระทรวงฯเกี่ยวกับงานประดาน้ำ พ.ศ.๒๕๔๘

                4.5  กฎกระทรวงฯเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่างและเสียง พ.ศ.๒๕๔๙

                4.6  กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.๒๕๔๙

                4.7  กฎกระทรวงฯเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ.๒๕๕๑

                4.8  กฎกระทรวงฯเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่นและหม้อน้ำ พ.ศ.๒๕๕๒

                4.9  กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๓

5.     ส่วนที่กฎหมายลูกบทที่ออกภายใต้ พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.๒๕๕๔ ได้แก่

        5.1  ประกาศกรมฯ เรื่องสัญลักษณ์เตือนอันตราย เครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานและข้อความแสดงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง พ.ศ.๒๕๕๔ (ตามม.๑๗)

        5.2  ประกาศกรมฯเรื่องกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ.๒๕๕๔ (ตาม ม.๒๒)

        5.3  ประกาศกรมฯเรื่อง กำหนดแบบแจ้งการเกิดอุบัติภัยร้ายแรง หรือการประสบอันตรายจากการทำงาน พ.ศ.๒๕๕๔ (ตาม ม.๓๔)

        5.4  ประกาศกรมฯ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการฝึกอบรมผู้บริหาร หัวหน้างานและลูกจ้างด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.๒๕๕๕ (ตาม ม.๑๖)

ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปสืบค้นรายการกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้นจากหมวดกฎหมายเก่าด้านแรงงาน และหรือด้านความปลอดภัยตามความเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ ยังร่างกฎกระทรวงที่จะออกมาเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 3 ฉบับได้แก่ ร่างกฎกระทรวง เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย, ร่างกฎกระทรวง เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับการตกจากที่สูง และร่างกฎกระทรวง เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า เป็นต้น

ประเด็นต่างๆที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาในบทความนี้ เป็นเพียงแค่บางส่วนของพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.๒๕๕๔ เท่านั้น แต่ในบางมาตราของพรบ.นี้ ยังมีประเด็นต่างๆที่น่าสนใจอีกมากซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาต่อไปในอนาคต ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจบ้างตามสมควร

****End of Article*****

 

ผู้ชม 4,199 วันที่ 18 เมษายน 2556