ความฉลาดทางอารมณ์ กับการบริหารจัดการงานบุคคล (2)
ปิยะชัย จันทรวงศ์ไพศาล
เมื่อตอนที่แล้วผู้เขียนเกริ่นนำให้ผู้อ่านรู้จัก EI อย่างคร่าวๆ ไปแล้ว หากผู้อ่านท่านใดสนใจควรศึกษาเพิ่มเติม จากแหล่งที่มาที่ผู้เขียนอ้างอิงไว้ได้ครับ ตอนนี้จะพูดถึงการพัฒนาและการรักษา EI อย่างง่ายๆ สบายๆ กันครับ
โดยความคิดเห็นของผู้เขียน ประเด็นสำคัญของการศึกษา EI ไม่ใช่เพื่อรู้ว่าเรามีความฉลาดทางอารมณ์ระดับใดแค่ไหนแล้วจบกัน แต่จะต้องรักษาและพัฒนา EI ไปเพื่อการปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการครองตนตามวิถีชีวิตประจำวันและการปฏิบัติหน้าที่การงาน
ดังนั้นผู้เขียนจึงใช้คำว่า "รักษา (maintain)" และ "พัฒนา (develop)" เพราะคิดว่าเมื่อเราสามารถพัฒนา EI ถึงระดับที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขแล้วจะต้องหมั่นประคองรักษา EI นั้นให้คงอยู่ได้นานที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเอง (self-control) ที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการบริหารจัดการตนเอง (self-management) ที่หลายครั้งเราจะรู้สึกโกรธใครคนหนึ่ง มีความสับสนในการแก้ปัญหา หรือมีความเครียด ไม่ว่าจะเกิดจากการทำงาน หรือชีวิตครอบครัว การใช้สติสัมปชัญญะเพื่อควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตน ไม่แสดงออกไปในทางลบ ถือเป็นวิธีการควบคุมตนเองที่ดีวิธีหนึ่ง เราเคยได้รับการสั่งสอนว่าให้นับหนึ่งถึงร้อย เพื่อฝึกความอดกลั้นอดทน เพื่ออะไรครับ เพื่อให้เกิดช่องว่างสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง ให้เกิดสติ-ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ-ความรู้ตัว
เราเคยได้ยินว่า เมื่อเวลาใดเกิดความเครียดความสับสน ให้สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ แล้วค่อยๆ ปล่อยออกอย่างช้าๆ ในทางวิทยาศาสตร์ บอกเราว่า การสูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ แล้วปล่อยออกอย่างช้าๆ จะทำให้ร่างกายของคนเรา สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งผลดีโดยตรงไปที่สมอง ทำให้เกิดการคิด การไตร่ตรองมากขึ้น ถามว่ายากหรือไม่ยากครับ ยากในตอนแรก แต่เมื่อฝึกไปนานๆ เราจะสามารถครองสติได้มากขึ้น มีความมั่นคงทางอารมณ์เกิดขึ้น ผู้เขียนก็ยังพยายามอยู่นะครับแต่ยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก
หากถามว่าเราจะรักษาและพัฒนา EI อย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผู้เขียนคิดว่าไม่มีคำตอบตายตัวที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ประสบการณ์ ความรู้สึก สิ่งแวดล้อม ฯลฯ การรักษาและพัฒนา EI สำหรับคนๆ หนึ่งอาจจะไม่ใช่แนวทางสำหรับของอีกคนหนึ่งก็ได้นะครับ ดังนั้นโดยภาพรวมผู้เขียนเสนอว่าให้ใช้ปัจจัยเหล่านี้เป็นแนวทางครับ
1.ให้เริ่มต้นจากการพัฒนา EI ด้านการรับรู้ตนเอง (self-awareness) และการจัดการตนเอง (self-management) ก่อนครับแล้วจึงค่อยไปรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น หากเรายังแก้ไขปัญหา และยังควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองไม่ได้ การจะไปรับรู้ความรู้สึกและแก้ไขปัญหาขัดแย้งของผู้อื่นคงกระทำได้ยากเช่นกัน
2.ใช้หลักธรรม และแนวคิดปรัชญาของศาสนาเป็นหลัก ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้หลักปรัชญาพุทธศาสนาครับ หากเราคิดว่าทุกๆ ศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ย่อมสามารถน้อมรับหลักคำสอนของศาสนามาปรับใช้ได้ทุกกรณีครับ
3.ใช้ประสบการณ์การเรียนรู้จากอดีต คนทุก คนต้องเคยทำผิดพลาดมาบ้าง เอาความผิดพลาดในอดีต มาใช้เป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ทำผิดอีกก็ดี นะครับ
4.ปรึกษาผู้มีประสบการณ์มากกว่า แม้ว่าสังคมไทยปัจจุบันจะกลายเป็นครอบครัวเชิงเดี่ยวมากขึ้นทุกที แต่สังคมครอบครัวของไทย ก็ยังต้องมีการไปมาหาสู่กันระหว่างเครือญาติ รวมทั้งการคบหาสมาคมกับเพื่อนฝูงทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง หากมีปัญหาใดๆ ลองปรึกษารับฟังความคิดจากหลายๆ ด้านหลายๆ มุม บางครั้งเราอาจจะได้คำตอบที่เหมาะสมก็ได้ครับ
5.ใช้ประโยชน์จากการประชุมสัมมนาเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ หรือหัวข้ออื่นๆ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ผู้เขียนแนะนำให้ใช้วิทยากรที่เป็นนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์จะดีกว่าครับ เพราะท่านเหล่านี้จะมีประสบการณ์โดยตรงและผ่านกรณีศึกษาจริงๆ มามาก แต่หากใครบอกว่าสามารถพัฒนา EI ให้สูงขึ้น ทำให้มี competency สูงขึ้นภายใน 1-2 วันของการสัมมนา ต้องคิดหนักหน่อยนะครับ
6.ใช้บริการจากที่ปรึกษาหรือผู้ชำนาญการด้าน EI โดยปกติการพัฒนา EI ผู้นำองค์กรและหัวหน้างานจะใช้เวลาค่อนข้างมาก บางท่านจะสามารถร่างแผนการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EI development plan) ของแต่ละบุคคลได้เลยครับ
7.ถ้าหาทางออกสุดท้ายไม่ได้จริงๆ ติดต่อกรมสุขภาพจิต http://www.dmh.moph.go.th/ หรือโทร.1667 สายด่วนสุขภาพจิต

ผู้ชม 3,497 วันที่ 28 เมษายน 2553