สรุปข้อปรับเปลี่ยน EICC Version 3.0 เป็น Version 4.0

ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

EICC เป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆขององค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ EICC จะเป็นหลักจรรยาบรรณที่ต้องมีการตรวจสอบ (Validated) และตรวจประเมิน (Audit) โดยหน่วยงานภายนอกเพื่อยืนยันถึงความมีประสิทธิผลของผลการดำเนินงานตามหลักจรรยาบรรณ EICC ดังกล่าวด้วย 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า EICC จะเป็นเพียงแนวทาง (Guideline) สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้ขอบเขตที่สำคัญ 5 หมวดคือ

1.               ด้านแรงงาน (Labor)

2.               ด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Health and safety)

3.               ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)

4.               ด้านจริยธรรม (Ethics)

5.               ด้านระบบการบริหารจัดการ (Management System)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า EICC จะระบุว่าองค์กรอาจจะนำหลักจรรยาบรรณ EICC ไปประยุกต์ใช้โดยสมัครใจ (voluntarily) แต่ข้อเท็จจริงคือ EICC กลายเป็นเครื่องมือในสภาพบังคับ (Enforcement) สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ดังนั้น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศไทยจึงต้องเรียนรู้หลักการและเรียนรู้แนวทางของ EICC เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ภายในองค์กรอย่างเหมาะสม  แต่ผู้บริหารจะต้องยอมรับว่ามีค่าใช้จ่ายในการลงทุนปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในบริษัทให้มีความสอดคล้องกับหลักการ 5 ด้านดังกล่าวข้างต้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในกระบวนการตรวจสอบ (Validated Audit Process) เป็นเงินจำนวนมากหลายแสนหรือหลายล้านบาท จึงควรพิจารณาถึงงบประมาณขององค์กรด้วย

EICC มีกระบวนการทบทวนข้อกำหนดเช่นเดียวกับระบบการจัดการมาตรฐาน ISO ซึ่งคาดว่าในครั้งถัดไปจะมีการการทบทวนราวเดือนสิงหาคม 2014 ถึงเดือนเมษายน 2015 โดยในปีที่ผ่านมา (2011-2012) มีการทบทวนข้อกำหนดใหม่ สรุปว่ามี 4 หัวข้อย่อยที่เพิ่มขึ้นใหม่เลยและมี 14 หัวข้อย่อยถูกทบทวนปรับปรุง ดังนี้

·        บทนำ (Introduction) : ปรับปรุง 5 หัวข้อ

·        แรงงาน (Labor) : ปรับปรุง 4 หัวข้อ

·        สุขภาพและความปลอดภัย (Health & Safety) : ปรับปรุง 2 หัวข้อ

·        สิ่งแวดล้อม (Environment) : ไม่มีหัวข้อที่ปรับปรุง

·        จริยธรรม (Ethics) : ปรับปรุง 5 หัวข้อ

·        ระบบการบริหารจัดการ (Management system) : ปรับปรุง 2 หัวข้อ

โดยภาพรวม ผู้เขียนขอสรุปโดยย่อเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปศึกษาต่อดังนี้

บทนำ (Introduction)

·        เป็นการเรียบเรียงถ้อยคำให้มีความกระชับและรัดกุมมากขึ้น รวมถึงขยายความให้มีความชัดเจนมากขึ้น

·        ในย่อหน้าที่ 2 ได้ขยายความถึงวัตถุประสงค์ของ EICC ให้ครอบคลุมทั้งหมดในองค์กร ที่อาจจะมีการออกแบบ, การตลาด, การผลิต หรือการส่งมอบสินค้าหรือให้บริการที่ใช้ในการผลิตกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และรวมถึงผู้จัดหาแรงงานบริการด้วย

·        เรียงลำดับหัวข้อ 5 หมวดใหม่ตามที่กล่าวไปข้างต้น จากเดิม Section D เป็น ระบบการบริหารจัดการ (Management System) และ Section E เป็น จริยธรรม (Ethics) ก็ปรับใหม่เป็น Section D เป็น จริยธรรม (Ethics) และ Section E เป็น ระบบการบริหารจัดการ (Management System) ตามลำดับ

หมวด A แรงงาน (Section A : Labor)

·        การประยุกต์ใช้ของหมวดนี้แก่พนักงานทุกคน รวมพนักงานชั่วคราว แรงงานอพยพ นักเรียนนักศึกษา ผู้รับจ้างแรงงานภายนอกและแรงงานอื่นๆ มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

·        ข้อที่ A1 ขยายความถึงการไม่จ้างแรงงานที่ถูกบังคับ ให้รวมถึงแรงงานแรงงานทาส หรือแรงงานจากการค้ามนุษย์ ตลอดจนการจัดส่งแรงงาน การปิดบังซ่อนเร้น การรับสมัคร การโอนย้ายหรือการรับแรงงานที่ด้อยโอกาส จากการคุกคาม ขู่เข็ญ การบีบบังคับ การลักพา หรือ การล่อลวงเพื่อการหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง  ประเด็นสำคัญคือการคุ้มครองลูกจ้างโดยแรงงานจะต้องสมัครใจทำงานและมีอิสระที่จะลางานตามกรอบเวลาหรือเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง พนักงานต้องไม่มีการส่งมอบให้เอกสารที่ราชการออกให้, พาสปอร์ต, หรือใบอนุญาตการจ้างงานซึ่งเป็นเงื่อนไขการจ้างงาน  ค่าธรรมเนียมที่มากเกินไปไม่อาจยอมรับได้และต้องไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดๆจากพนักงาน

·        ข้อที่ A5. นโยบายการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมต้องสื่อสารให้ทั่วทั้งองค์กร  ซึ่งองค์กรจะต้องไม่มีการปฏิบัติอย่างหยาบคายและไร้มนุษยธรรม รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ การทารุณกรรมทางเพศ การลงโทษทางร่างกาย, จิตใจ หรือการทรมาณทางร่างกายหรือการกระทำข่มเหงทางวาจาแก่พนักงาน และต้องไม่มีการปฏิบัติการคุกคามใดๆต่อพนักงานอีกด้วย

หมวด B : สุขภาพและความปลอดภัย (Health and Safety)

·        ข้อที่ B2 กำหนดให้องค์กรต้องระบุและประเมินสถานะฉุกเฉินและเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น (potential 

·  emergency situations and events)

·        ส่วนประเด็นอื่นๆยังคงเดิมหรือปรับถ้อยคำเล็กน้อยเท่านั้น เนื้อหาใจความไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

หมวด C : สิ่งแวดล้อม (Environment)

·        หมวดนี้ยังคงใช้ถ้อยคำต่างๆเหมือนเดิมไม่มีการปรับปรุงเรียงร้อยข้อความใหม่

หมวด D : จริยธรรม (Ethics)

·        ข้อที่ D1 เพิ่มเติมชัดเจนว่านอกจากองค์กรจะไม่ทำแล้ว ยังต้องไม่สนับสนุนให้เกิดการติดสินบน (bribery) การคดโกง (corruption), การบีบบังคับ (extortion) และการยักยอกทรัพย์ (embezzlement) (ซึ่งรวมถึงการสัญญาว่าจะให้, ยื่นข้อเสนอ, ให้หรือ ยอมรับการติดสินบนใดๆ) และดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง

·        ข้อที่ D3 ย้ำเน้นเพิ่มเติมเรื่องการปลอมแปลงบันทึกหรือสภาวะหรือระเบียบการของตัวแทนที่แอบอ้างในห่วงโซ่อุปทานไม่สามารถยอมรับได้

·        ข้อที่ D7. แหล่งแร่ที่รับผิดชอบ (Responsible sourcing of minerals) เป็นเรื่องใหม่ กล่าวโดยสรุปคือองค์กรต้องไม่มีธุรกรรมไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับบริษัทใดๆที่มีการผลิตสินค้าซึ่งมีแร่แทนทาลัม, ดีบุก, ทังสะเตนและทองที่ใช้ในตัวผลิตภัณฑ์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการการข่มขู่คุกคามจากการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้กระทำผิดในประเทศสาธารณรัฐคองโกหรือประเทศอื่นที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน

·        ข้อที่ D8. ความเป็นส่วนตัว (Privacy) เป็นเรื่องใหม่ องค์กรต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลและข้อมูลส่วนบุคคลของทุกฝ่าย รวมถึงผู้ขาย, ลูกค้า, ผู้บริโภคและพนักงาน โดยคำนึงถึงการปฏิบัติให้สอดคล้องตามกฎหมายหรือกฎข้อบังคับด้านความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงของข้อมูล

·        ข้อที่ D9. ไม่มีการตอบโต้ (Non-Retaliation) เป็นเรื่องใหม่ โดยองค์กรต้องมีกระบวนการสื่อสารแก่บุคลากรที่สามารถแสดงถึงความกังวลได้โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกเอาคืน

หมวด E : ระบบการบริหารจัดการ (Management systems)

·        ข้อที่ E3 เพิ่มเรื่องให้มีกระบวนการที่บ่งชี้, เฝ้าติดตามและเข้าใจในกฎหมาย, ระเบียบข้อบังคับและข้อกำหนดของลูกค้าที่ประยุกต์ใช้ รวมถึงข้อกำหนดอื่นๆตามหลักจรรยาบรรณ EICC

·        ข้อที่ E12. ความรับผิดชอบของผู้ขาย  (Supplier responsibility) เป็นเรื่องใหม่ โดยองค์กรต้องมีกระบวนการสื่อสารหลักจรรยาบรรณนี้แก่ผู้ขาย (supplier)และเฝ้าติดตามความสอดคล้องของผู้ขายตามหลักจรรยาบรรณ EICC ดังกล่าวด้วย

จากบทสรุปความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า EICC ใน Version 4.0 นั้นได้ก้าวเข้าสู่การเมืองระดับนานาชาติ ดังจะเห็นได้จากข้อที่ D7. แหล่งแร่ที่รับผิดชอบ (Responsible sourcing of minerals) นอกจากนี้ ยังย้ำเน้นเรื่องการคุ้มครองสิทธิของพนักงานมากขึ้น  ส่วนกระบวนการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กรเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ EICC ทวีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะข้อที่ E12. ความรับผิดชอบของผู้ขาย  (Supplier responsibility) ซึ่งแสดงว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผู้เข้าร่วมใน EICC จะต้องผลักดัน EICC ไปยังผู้ขายเป็นทอดๆลงไปตามลำดับ

*****End of Article*****

ผู้ชม 6,320 วันที่ 06 สิงหาคม 2555