สรุปความหลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สำหรับสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ที่กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบ : ทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย
โดยนายปิยะชัย จันทรวงศ์ไพศาล
[email protected], [email protected]
ปัจจุบัน โรงงานหลายแห่งที่มีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ไว้ใช้ในครอบครอง ยังคงเข้าใจผิดคิดว่าได้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานที่เกี่ยวกับการผลิต การเก็บ การบรรจุ การใช้ และการขนส่งก๊าซ พ.ศ. 2548 แล้ว แต่หากทำความเข้าใจกันให้ดีจะพบว่าประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯฉบับนี้ได้บัญญัติคำนิยามของคำว่า ““ก๊าซ” (GAS) หมายถึง ก๊าซทุกชนิด ยกเว้นก๊าซอะเซทิลีนที่ละลายในอะซีโตนและก๊าซปิโตรเลียมเหลว” ด้วยเหตุนี้ หากท่านมี LPG ไว้ในครอบครองและส่งพนักงานไปรับการฝึกอบรมเป็นบุคลากรควบคุมก๊าซ LPG ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การฝึกอบรม การออกหนังสือรับรองและการขึ้นทะเบียนเป็นคนงานควบคุม ส่งและบรรจุก๊าซประจำโรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๙ จึงไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้ว่าท่านปฏิบัติตามกฎหมายอย่างสอดคล้องแล้ว เพราะการมี LPG ไว้ในครอบครองในปริมาณที่กำหนด ท่านจะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา การกำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบ และการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ สำหรับสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ที่กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๕๔ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องจากกรมธุรกิจพลังงานด้วย ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการครอบครองก๊าซจากคนละหน่วยงาน คนละฉบับกัน
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียน จึงพยายามอธิบายให้โรงงานหรือองค์กรใดๆก็ตามที่มี LPG ไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติตามดังนี้
1. ท่านเป็นสถานที่มีการใช้ LPG ไว้ในครอบครองหรือไม่ หมายความว่า เป็นสถานประกอบการที่มีการเก็บรักษา LPG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิต แต่ไม่รวมถึงการใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหุงต้มในครัวเรือน (ไม่รวมการเป็นผู้ผลิต, ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตสำหรับวัตถุอันตรายตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕)
2. ถ้ามี LPG ตามข้อ 1 ให้สำรวจว่า มีปริมาณการเก็บ LPG สูงสุด (รวมปริมาณบรรจุ LPG ถังเปล่าด้วย) ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของถังก๊าซหุงต้ม หรือ ถังเก็บขนาดใหญ่ (bulk) ทั้งโรงงาน (รวมถังก๊าซที่ใช้สำหรับรถโฟล์คลิฟท์ด้วย) *** แต่ทางกรมธุรกิจพลังงานแจ้งว่าไม่รวมถังก๊าซที่ใช้ในรถโฟล์คลิฟท์ ??? *** ดังนี้
2.1 ปริมาณ LPG รวมกันสูงสุดไม่เกิน 250 กก.
2.2 ปริมาณ LPG รวมกันสูงสุดเกินกว่า 250 กก. แต่ไม่เกิน 500 กก.
2.3 ปริมาณ LPG รวมกันสูงสุดเกินกว่า 500 กก. แต่ไม่เกิน 1,000 กก.
2.4 ปริมาณ LPG รวมกันสูงสุดเกิน 1,000 กก. ขึ้นไป
3. หากท่านมี LPG ไว้ในครอบครอง ไม่เกิน 250 กก. ตามข้อ 2.1 ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงการครอบครองและไม่ต้องขออนุญาตมีไว้ในครอบครองใดๆทั้งสิ้นตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรักษาและการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวจากถังก๊าซหุงต้มในสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว พ.ศ. ๒๕๕๔
4. หากท่านมีปริมาณ LPG รวมกันสูงสุดเกินกว่า 250 กก. แต่ไม่เกิน 500 กก.ไว้ในครอบครอง ตามข้อ 2.2 ท่านจะต้องดำเนินการดังนี้
4.1 ต้องแจ้งข้อเท็จจริงการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามแบบ ธพ.กจ.๑ เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับแจ้งตามแบบ ธพ.กจ.๒ (ตามข้อ ๓ ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรักษาและการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวจากถังก๊าซหุงต้มในสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว พ.ศ. ๒๕๕๔) ภายในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕
4.2 การจัดเก็บและการตั้งถังก๊าซหุงต้ม ในสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ต้องปฏิบัติตามข้อ ๕ ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรักษาและการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวจากถังก๊าซหุงต้มในสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว พ.ศ. ๒๕๕๔
(๑) สถานที่ตั้งและเก็บถังก๊าซหุงต้ม ต้องอยู่ที่ชั้นระดับพื้นดินของอาคาร และตั้งในที่ที่จัดไว้สำหรับตั้งถังก๊าซหุงต้มโดยเฉพาะ
(๒) สถานที่ตั้งและเก็บถังก๊าซหุงต้มต้องอยู่ห่างจากแหล่งที่มีความร้อนสูงเปลวไฟหรือประกายไฟ หรือวัสดุที่ทำให้เกิดไฟหรือไฟไหม้ได้ง่ายไม่น้อยกว่า ๓.๐๐ เมตร
(๓) พื้นของสถานที่ตั้งและเก็บถังก๊าซหุงต้ม ต้องเป็นพื้นเรียบ และผิวพื้นต้องเป็นวัสดุที่ทำให้เกิดประกายไฟจากการเสียดสีได้ยาก เช่น ซีเมนต์ขัดมัน หินเกล็ดขัดมัน
(๔) ตั้งถังก๊าซหุงต้มไว้ในที่ที่มีการระบายอากาศหรือถ่ายเทอากาศได้ดี
(๕) มีอุปกรณ์ยึดถังก๊าซหุงต้ม เพื่อไม่ให้ถังก๊าซหุงต้มเคลื่อน หรือล้ม
(๖) ไม่ตั้งถังก๊าซหุงต้มในห้องรับประทานอาหาร
4.3 หากท่านมีการวางระบบท่อ LPG ไปใช้ในกระบวนการทำงาน ให้ปฏิบัติตามข้อ ๖ การวางระบบท่อก๊าซปิโตรเลียมเหลวเข้ากับถังก๊าซหุงต้ม ให้นำความตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง การวางระบบท่อก๊าซปิโตรเลียมเหลว และการติดตั้งอุปกรณ์เข้ากับถังเก็บและจ่ายก๊าซในสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว พ.ศ. ๒๕๕๔ ข้อ ๓ (๑) (๒) (๓) (๔) (๖) (๗) (๘) (๑๑) และ (๑๒) มาบังคับใช้โดยอนุโลม
ก่อนการใช้งานต้องทดสอบระบบท่อก๊าซปิโตรเลียมเหลว ด้วยความดันไม่น้อยกว่า ๑.๕ เท่า ของความดันใช้งาน โดยรักษาความดันที่ใช้ทดสอบให้คงที่ไว้ไม่น้อยกว่าสามสิบนาทีจนเป็นที่แน่นอนว่าระบบท่อก๊าซปิโตรเลียมเหลวไม่รั่ว โดยผู้ทดสอบและตรวจสอบ จึงจะเริ่มใช้งานได้
ระบบท่อก๊าซปิโตรเลียมเหลวตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้มีการทดสอบและตรวจสอบทุก ๆ ๕ ปี
5. หากท่านมีปริมาณ LPG รวมกันสูงสุดเกินกว่า 500 กก. แต่ไม่เกิน 1000 กก.ไว้ในครอบครอง ตามข้อ 2.3 ท่านจะต้องดำเนินการดังนี้
5.1 ยื่นขอรับใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องดำเนินการขออนุญาตทุกปี ภายในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕
5.2 ต้องมีบุคลากรเฉพาะที่รับผิดชอบดูแลไม่น้อยกว่า ๑ คน ภายในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖
5.3 ต้องติดตั้งเครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่ว (LPG Leak detector) ไว้ที่บริเวณที่ตั้งถังก๊าซหุงต้ม หรือถังเก็บและจ่ายก๊าซ อย่างน้อยบริเวณละหนึ่งเครื่อง เครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่วต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๑๗ และต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้และเปิดใช้งานตลอดเวลา
5.4 ระบบไฟฟ้า และเครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่ว ให้ปฏิบัติตามส่วนที่ ๖ แห่งประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา ฯ พ.ศ. ๒๕๕๔.
5.5 การต่ออายุใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายประจำปี ต้องมีการตรวจสอบด้วยกรรมวิธีพินิจด้วยสายตา (Visual Inspection) เป็นอย่างน้อย โดยผู้ทดสอบและตรวจสอบ
5.6 ท่านจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ทดสอบและตรวจสอบให้สอดคล้องกับประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ทดสอบและตรวจสอบ พ.ศ. ๒๕๕๔
5.7 ให้ปฏิบัติตามข้อ 4.2 และ 4.3 ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
6. หากท่านมีปริมาณ LPG รวมกันสูงสุดเกินกว่า 1,000 กก. ขึ้นไปไว้ในครอบครอง ตามข้อ 2.4 ท่านจะต้องดำเนินการดังนี้
6.1 ยื่นขอรับใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องดำเนินการขออนุญาตทุกปี ภายในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕
6.2 ต้องมีบุคลากรเฉพาะที่รับผิดชอบดูแลไม่น้อยกว่า ๑ คน ภายในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖
6.3 ต้องเก็บรักษาและใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวจากถังเก็บและจ่ายก๊าซ จะเป็นถังเก็บบนดินหรือใต้ดินก็ได้ แต่แผนผังและรูปแบบต้องเป็นไปตามตามที่กรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนด ในส่วนที่ 2 แห่งประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา ฯ พ.ศ. ๒๕๕๔.ภายในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖
6.4 การติดตั้งและแบบของถังเก็บและจ่ายก๊าซ ให้เป็นไปตามส่วนที่ ๓ ถังเก็บและจ่ายก๊าซ และการตั้งแห่งประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา ฯ พ.ศ. ๒๕๕๔.
6.5 การวางระบบท่อต้องเป็นไปตามที่กรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนด โดยปฏิบัติตามส่วนที่ ๔ ระบบท่อและอุปกรณ์ก๊าซปิโตรเลียมเหลวแห่งประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา ฯ พ.ศ. ๒๕๕๔.
6.4 การป้องกันและระงับอัคคีภัย ให้เป็นไปตามส่วนที่ ๕ ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยแห่งประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา ฯ พ.ศ. ๒๕๕๔.
6.5 ระบบไฟฟ้าและเครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่ว ให้เป็นไปตามส่วนที่ ๖ ระบบไฟฟ้า และเครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่วแห่งประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา ฯ พ.ศ. ๒๕๕๔.
6.6 ถังเก็บและจ่ายก๊าซที่ผลิตขึ้นใหม่หรือสร้างขึ้นใหม่ ผู้ผลิตหรือสร้างถังเก็บและจ่ายก๊าซต้องจัด ให้มีการทดสอบและตรวจสอบโดยผู้ทดสอบและตรวจสอบด้วยกรรมวิธีที่ไม่ทำลายสภาพเดิม (Nondestructive examination) ของถังเก็บและจ่ายก๊าซ ตามที่กรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนด รวมถึงก่อนบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวลงในถังเก็บและจ่ายก๊าซที่ผ่านการทดสอบและตรวจสอบ ต้องจัดให้มีการทดสอบและตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซ โดยผู้ทดสอบและตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ให้เป็นไปตามส่วนที่ ๗ การทดสอบและตรวจสอบแห่งประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา ฯ พ.ศ. ๒๕๕๔.
6.7 แจ้งปริมาณก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่รับโอนซื้อใช้ไปจำหน่ายและคงเหลือในแต่ละเดือน โดยใช้แบบแจ้งปริมาณการรับโอน ซื้อ จำหน่ายและคงเหลือก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับโรงบรรจุก๊าซและสถานีบริการ ตามแบบ ธพ.ธ ๒๑๙ (๑) และแบบแจ้งปริมาณการซื้อใช้ไปและคงเหลือก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ตามแบบ ธพ.ธ ๒๑๙ (๒) ภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไป ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดแบบและรายการข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ซื้อหรือได้มา ที่ใช้ไป ที่จำหน่าย และคงเหลือในแต่ละเดือน พ.ศ. ๒๕๕๔
7. สำหรับบุคลากรเฉพาะที่รับผิดชอบดูแลสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวนั้น ให้ตรวจสอบด้วยว่าผู้ให้การฝึกอบรมนั้นต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ข้อ ๘ แห่งประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การฝึกอบรมเรื่องก๊าซปิโตรเลียมเหลว การระวังและการป้องกันอันตรายของบุคลากรเฉพาะที่รับผิดชอบดูแลสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งระบุว่า “ผู้ฝึกอบรมต้องได้รับหนังสือรับรอง (แบบ ธพ.กฝ.๒) จากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานมอบหมายก่อน จึงจะเริ่มดำเนินกิจการฝึกอบรมได้” ดังนั้น จึงขอแนะนำว่าให้ท่านตรวจสอบบริษัทที่จะให้การฝึกอบรมกับกรมธุรกิจพลังงานก่อนนะครับ เพื่อป้องกันมิให้ท่านต้องเสียเงินฟรีครับ
จากความที่เรียบเรียงขึ้นมาข้างต้นนั้น ท่านจะต้องพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับ LPG อีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องด้วยนะครับ อาทิเช่น ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง แผนผังและรูปแบบของสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว พ.ศ. ๒๕๕๔, ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง การวางระบบท่อก๊าซปิโตรเลียมเหลว และการติดตั้งอุปกรณ์เข้ากับถังเก็บและจ่ายก๊าซในสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว พ.ศ. ๒๕๕๔, ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง การทดสอบและตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซ พ.ศ. ๒๕๕๔, ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง การกำหนดบริเวณอันตราย ในการติดตั้งระบบไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และบริภัณฑ์ของสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว พ.ศ. ๒๕๕๔, ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ทดสอบและตรวจสอบ พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้น รายละเอียดของกฎหมายดังกล่าวผู้เขียนนำเสนอในหมวดกฎหมายของ www.pyccenter.com ไว้เรียบร้อยสามารถสืบค้นได้เลยครับ หวังว่าบทความนี้น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีก๊าซปิโตรเลียมเหลวไว้ในครอบครองสามารถดำเนินการให้สอดคล้องตามกฎหมายครับ
*****End of article*****
ผู้ชม 56,726 วันที่ 16 เมษายน 2555