หลักเกณฑ์เหมืองแร่สีเขียว

กลุ่มที่ปรึกษาการจัดการสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม

(อ้างอิง : http://greenmining.dpim.go.th/new/GreenmiingCriterion.html)

วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการสนับสนุนและผลักดันให้สถานประกอบการต่างๆ ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเปิด โอกาสให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมมากที่สุด

หลักเกณฑ์สถานประกอบการที่จะได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Award) จะต้องให้ความสำคัญและดำเนินการ 6 เรื่อง ดังต่อไปนี้

1. มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นที่ตั้ง การทำเหมืองจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยจะ ต้องทำเหมืองให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ควบคุมผลกระทบให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิด ขึ้นเมื่อการทำเหมืองก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในระดับที่รุนแรง และเกิดการร้องเรียน โดยการชดเชย ความเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบ และดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสภาพดีโดยเร็ว โดยจะส่งเสริม ให้ผู้ประกอบการทำ Corporate Social Responsibility (CSR) หรือ ความ รับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม

2. ลด ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม การทำเหมืองแร่ต้องมีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่ทาง ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัดและครบถ้วน มีระบบตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ และมีการศึกษาและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ปรับปรุงระบบกำจัด มลพิษ โดยมีนโยบายสนับสนุนกิจกรรมคุณภาพต่างๆ เช่น 5 ส. ISO 9000 ISO 14000 และ Clean Technology (CT) เป็นต้น

3. ดูแลความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของคนงานและชุมชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง การทำเหมืองต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยและสุขภาพที่ได้มาตรฐาน มีการทำเหมืองที่ถูก ต้องตามหลักวิชาการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อพนักงานเหมืองและประชาชนทั่วไป มีระบบตรวจสอบและควบคุมมลพิษไม่ให้แพร่กระจายออกสู่ภายนอกเหมืองแร่

4. มีพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพเรียบร้อยสะอาดตา การทำเหมืองจะต้องมีการจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม เปิดการทำเหมืองเฉพาะบริเวณที่มีแร่เท่านั้น บริเวณที่ไม่ได้มีกิจกรรมการ ทำเหมืองจะต้องทำการปลูกต้นไม้และปรับปรุงทัศนียภาพให้สวยงาม บริเวณที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วต้องทำการฟื้นฟูควบคู่ไปกับการทำเหมือง เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและสร้าง สมดุลของระบบนิเวศน์ เพื่อลดสภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามโลกในปัจจุบัน นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องตั้งกองทุนฟื้นฟูโดยจัดสรรจากกำไรที่ได้จากการพัฒนาทรัพยากรแร่ เพื่อเป็นหลักประกันในการฟื้นฟูพื้นที่หลังจากประทานบัตรหมดอายุแล้ว

5. โปร่งใสตรวจสอบได้ การทำเหมืองต้องเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองให้สาธารณชนรับทราบ และพร้อมรับการตรวจสอบจากบุคคลภายนอก เช่น การติดป้ายแสดง ขอบเขตเหมือง และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

6. ใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า การทำเหมืองต้องนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า สูงสุด ศึกษาหาวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรแร่ ตลอดจนศึกษาหาวิธีนำของเสีย จากขบวนการผลิตมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยส่งเสริมให้มีการจัดทำ 3 Rs (Reduce Reuse Recycle) เพื่อสร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

รายละเอียดหลักเกณฑ์การพิจารณาเหมืองแร่สีเขียว

1. มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นที่ตั้ง
1.1 มีระบบรับเรื่องร้องเรียนและมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา
1.2 มีระบบตรวจสอบและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำเหมือง อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
1.3 มีการปรับปรุง แก้ไข และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสียหายให้อยู่ในสภาพดีโดยเร็ว
1.4 มีการประสานความร่วมมือและช่วยเหลือชุมชนโดยรอบ
1.5 หากผู้ประกอบการมีการทำ Corporate Social Responsibility (CSR) หรือมีความรับผิดชอบของธุรกิจสังคม จะได้รับคะแนนเป็นพิเศษ

2. ลด ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
2.1 มีการปฏิบัติตามแผนผังโครงการทำเหมืองอย่างเคร่งครัด ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ
2.2 มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ
2.3 มีการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและครบถ้วนตามข้อกำหนด
2.4 มีและใช้ระบบกำจัดมลพิษอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนศึกษาและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับปรุงระบบอย่างสม่ำเสมอ
2.5 หากผู้ประกอบการมีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลด ป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น 5 ส. ISO 9000 ISO 14000 และ Clean Technology มาใช้ จะได้รับคะแนนเป็น พิเศษ

3. ดูแลความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของคนงานและชุมชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง
3.1 มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยทั่วไปของเหมือง
3.2 มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำเหมือง
3.3 มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานทั่วไป
3.4 มีระบบความปลอดภัยด้านชีวอนามัย
3.5 มีระบบตรวจสอบสุขภาพอนามัยของชุมชนที่อาศัยข้างเคียง
3.6 หากได้รับรางวัลด้านความปลอดภัยจะให้คะแนนเป็นพิเศษ

4. มีพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพเรียบร้อยสะอาดตา
4.1 เปิดการทำเหมืองเฉพาะบริเวณที่มีแร่เท่านั้น บริเวณอื่นที่ไม่ทำเหมืองต้องรักษาต้นไม้ให้มีสภาพเดิม
4.2 ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสำนักงาน ลานกองแร่ เส้นทางขนส่งแร่ ฯลฯ ให้เป็นพื้นที่สีเขียวดูเรียบร้อยสะอาดตา
4.3 ปลูกต้นไม้บริเวณขอบเขตประกอบการ โดยเฉพาะบริเวณที่สามารถเห็นได้จากเส้นทางสาธารณะเพื่อป้องกันปัญหาทัศนียภาพ
4.4 มีแผนการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วอย่างชัดเจน
4.5 มีการฟื้นฟูพื้นที่ควบคู่ไปกับการทำเหมือง
4.6 มีกองทุนฟื้นฟูโดยจัดสรรจากกำไรที่ได้จากการพัฒนาแร่

5. โปร่งใสตรวจสอบได้
5.1 เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองให้สาธารณชนรับทราบ
5.2 ประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ
5.3 มีความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ตลอดเวลา

6. ใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า
6.1 ใช้เทคโนโลยีในการผลิตแร่ที่เหมาะสมลดการสูญเสียแร่ขณะทำการผลิต
6.2 ใช้แร่อย่างคุ้มค่า ถูกต้องตามมูลค่าแร่
6.3 สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรแร่
6.4 ศึกษาหาวิธีนำของเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
6.5 หากผู้ประกอบการมีการจัดทำ 3 Rs (Reduce Reuse Recycle) จะได้รับคะแนนพิเศษ

 

สำหรับหลักเกณฑ์การตรวจสอบ จะแยกตามประเภทของเหมืองครับ โดยให้พิจารณาจากแบบตรวจประเมินข้างล่างนี้ หากทำได้โดยสมบูรณ์ ก็น่าจะสามารถของรับการรับรองเป็น “เหมืองแร่สีเขียว (Green Mining)” ได้ครับ

แบบตรวจประเมินประเภทเหมืองแร่  (Link : http://greenmining.dpim.go.th/new/Picture/AssessmentFrom/Mine.pdf)

แบบตรวจประเมินประเภทโรงแต่งแร่  (Link : http://greenmining.dpim.go.th/new/Picture/AssessmentFrom/Ore_Dressing%20_Plant.pdf)

แบบตรวจประเมินประเภทโรงประกอบโลหกรรม  (Link : http://greenmining.dpim.go.th/new/Picture/AssessmentFrom/Metallurgical_Plant.pdf)

 

แบบตรวจประเมินประเภทโรงโม่ บด และย่อยหิน  (Link : http://greenmining.dpim.go.th/new/Picture/AssessmentFrom/Crushing_Plant.pdf)

 

ผู้ชม 4,717 วันที่ 17 กรกฎาคม 2554