EICC (ELECTRONIC INDUSTRY CODE OF CONDUCT) ตอนที่ 2

จรรยาบรรณทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์

 

ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

 

เมื่อตอนที่แล้ว เราพูดถึงประเด็นด้านแรงงาน ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งหนักใจมากที่สุด เพราะแน่นอนว่า ชั่วโมงการทำงาน (โดยเฉพาะค่าล่วงเวลา)ที่ลดลงย่อมมีผลกระทบต่อกำลังการผลิต ถ้าจะเพิ่มอัตราค่าตอบแทน ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุน  จึงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการคงต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วยครับ  ในตอนนี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไปครับ

หมวดที่ 2    สุขภาพและความปลอดภัย

2.1     ความปลอดภัยในการทำงาน

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทต้องจัดทำระเบียบปฏิบัติงานว่าด้วยการทำงานที่เสี่ยงอันตราย เช่น การทำงานบนที่สูง, การทำงานในที่อับอากาศ, การทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าแรงสูง เป็น

·        บริษัทต้องออกแบบหรือกำหนดมาตรการความปลอดภัย รวมถึงการซ่อมบำรุงรักษาดังกล่าวให้เหมาะสม

·        การควบคุมดังกล่าวจะต้องมุ่งไปที่การควบคุม ณ แหล่งกำเนิดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตรายเป็นสำคัญ หากควบคุมไม่ได้ ให้หามาตรการป้องกันที่ตัวผู้ปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม

·        อุปกรณ์ความปลอดภัยจะต้องเหมาะสมและสามารถคุ้มครองอันตรายจากการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน

·        พนักงานไม่ควรถูกลงโทษทางวินัยเมื่อหยิบยกประเด็นความปลอดภัยขึ้นมาใช้

2.2     การเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทต้องจัดทำระเบียบปฏิบัติและแผนงานรองรับสภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบความรุนแรงหรือโอกาสที่จะเกิดเหตุฉุกเฉินดังกล่าวอย่างเหมาะสม

·        แผนเตรียมพร้อมสภาวะฉุกเฉินควรดำเนินการทั้งการแจ้งเหตุ สัญญาณเตือนภัยและสื่อสารให้พนักงานทราบถึงขั้นตอนปฏิบัติการอพยพหนีภัย และครอบคลุมถึงแผนฟื้นฟูภายหลังเกิดเหตุฉุกเฉิน

·        บริษัทต้องฝึกซ้อมและทบทวนผลหลังการฝึกซ้อม เพื่อนำไปปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติให้ดีขึ้น

2.3     บาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงาน

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทต้องจัดทำระเบียบปฏิบัติเพื่อเฝ้าระวังและรายงานเกี่ยวกับการบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงานรวมถึงกฏระเบียบต่างๆ เช่น 

a)     กระตุ้นให้พนักงานแจ้งเรื่อง

b)     แบ่งประเภทและบันทึกกรณี บาดเจ็บ และเจ็บป่วย

c)     จัดให้มีชุดปฐมพยาบาลที่เพียงพอ 

d)     ตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงเพื่อแก้ไขที่สาเหตุมิให้เกิดการบาดเจ็บและเจ็บป่วยซ้ำ

e)     จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้พนักงานอย่างเหมาะสม

2.4     อาชีวอนามัยในสถานที่ประกอบการ

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทต้องดำเนินการตรวจร่างกายและสุขภาพของพนักงานตามปัจจัยเสี่ยง เช่น การทำงานเกี่ยวกับสารเคมี เชื้อโรค หรือสารพิษ อย่างเหมาะสม

·        บริษัทต้องดำเนินการตรวจวัดและเฝ้าระวังอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานที่ปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมและสอดคล้องตามกฎหมาย

·        บริษัทต้องจัดหาและฝึกอบรมพนักงานให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) อย่างเหมาะสม

2.5     งานที่ต้องใช้แรงงานหนัก

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่พนักงานในการใช้แรงงานที่ต้องยกของหนัก ทำงานอยู่กับที่ ทำงานซ้ำๆกันโดยคำนึงถึงหลักการยศาสตร์

·        การใช้แรงงานยกของหนักของชาย, หญิงและเด็กต้องคำนึงถึงข้อบังคับทางกฎหมายด้วย

2.6     การควบคุมความปลอดภัยในการใช้เครื่องจักร

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน (Safe guard) ของเครื่องจักร รวมถึงการบำรุงรักษาอุปกรณ์ป้องกันให้มั่นคงแข็งแรง   

2.7     หอพักและโรงอาหาร

แนวทางปฏิบัติ

·        โรงอาหารของบริษัทต้องสะอาด การปรุงอาหารต้องถูกสุขลักษณะและปลอดภัยต่อสุขอนามัยของพนักงาน

·        ห้องน้ำต้องสะอาดและมีจำนวนเพียงพอ

·        น้ำดื่มต้องมีจำนวนเพียงพอและสะอาดปลอดภัย

·        หอพักของพนักงานต้องสะอาด ปลอดภัย มีทางหนีไฟและมีระบบระบายอากาศที่เหมาะสม ไม่แออัด

 

หมวดที่ 3   สิ่งแวดล้อม

3.1  ใบอนุญาตและรายงานด้านสิ่งแวดล้อม

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทต้องปฏิบัติตามใบอนุญาตทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น เงื่อนไขแนบท้าย รง.4(ใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือขยายโรงงาน), EIA (ถ้ามี), การจัดการขยะของเสียอันตราย, การตรวจวัดมลพิษ เป็นต้น  

·        การส่งเอกสารรายงานต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อติดตามผล

3.2  การป้องกันมลภาวะและการลดการใช้ทรัพยากร

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทต้องกำหนดมาตรการในการจัดการขยะของเสียต่างๆ

·        บริษัทต้องกำหนดมาตรการในการลดปัญหามลพิษที่เกิดจากผลประกอบการ รวมถึงการประหยัดทรัพยากรและการอนุรักษ์พลังงานให้มีประสิทธิผล เช่น ปรับปรุงกระบวนการผลิต ซ่อมบำรุง  การใช้วัสดุอื่นทดแทน การอนุรักษ์พลังงาน และการรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ซ้ำ

3.3  วัตถุอันตราย

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทต้องจัดทำทะเบียนสารเคมีและวัตถุอันตรายที่ก่อให้เกิดอันตรายหากถูกปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม

·        บริษัทต้องทำเอกสาร MSDS (เอกสารกำกับความปลอดภัยของสารเคมี) ตามทะเบียนที่ชี้บ่ง

·        บริษัทต้องยื่นเอกสารที่เกี่ยวกับวัตถุอันตรายให้กับทางราชการตามกำหนดเวลาให้ถูกต้อง เช่น สอ.1, สอ.2, วอ/อก.6, วอ/อก.7  เป็นต้น

·        บริษัทต้องกำหนดมาตรการในการควบคุมดูแลสารเคมีวัตถุอันตรายให้ปลอดภัย  เพื่อให้มั่นใจว่าการเคลื่อนย้าย, การจัดเก็บ, การใช้, การนำกลับมาใช้ใหม่หรือการทำลายเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องตามกฎหมาย

3.4  น้ำเสียและขยะของเสีย

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทจะต้องควบคุมการคัดแยกขยะของเสียและจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมาย,  เฝ้าระวังและควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียให้ถูกต้องและเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนจะถูกปลดปล่อยไปสู่สิ่งแวดล้อม หรือกำจัดอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

3.5  การปล่อยอากาศเสีย

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทจะต้องกำหนดมาตรการการควบคุม , บำบัดและตรวจวัดเฝ้าระวังการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศจากกระบวนการผลิตและกระบวนการทำงานใดๆที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศดังกล่าวให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

3.6  การควบคุมส่วนประกอบผลิตภัณฑ์

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวกับการห้ามและการใช้ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์

·        บริษัทต้องชี้บ่งและการติดฉลากผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ฉลากแสดงการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ การรับคืนแบตเตอรี่ เป็นต้น

·        ข้อกำหนดใดๆของลูกค้าที่บริษัทยินดีปฏิบัติตาม บริษัทต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามข้อตกลงนั้นด้วย

หมวดที่ 4    ระบบการบริหารจัดการ

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทต้องประกาศเจตนารมณ์ในการปฏิบัติ, ธำรงรักษาไว้ และมุ่งมั่นปรับปรุงกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

·        บริษัทต้องประกาศแต่งตั้งตัวแทนของบริษัทให้มีหน้าที่การดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่าระบบการบริหารจัดการขององค์กรสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลการปฏิบัติงานแก่ผู้บริหารระดับสูงรับทราบเป็นระยะๆ

·        บริษัทต้องดำเนินการตรวจสอบและประเมินความสอดคล้องของกฎหมายและความต้องการของลูกค้า เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้อง

·        บริษัทประเมินความเสี่ยงในการทำงาน โดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน สุขอนามัยและความปลอดภัยของสภาพการทำงาน

·        บริษัทต้องดำเนินการจัดการกับความเสี่ยงอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงบทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

·        บริษัทต้องกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายและแผนงานการจัดการอย่างเหมาะสม และเฝ้าติดตามเป็นระยะๆ

·        บริษัทต้องดำเนินการฝึกอบรมให้พนักงานทุกระดับชั้นมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

·        บริษัทต้องจัดให้มีการสื่อสารนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม และข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนของกิจกรรมต่างๆแก่พนักงาน, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, ผู้ค้าและลูกค้าของบริษัท

·        บริษัทต้องดำเนินการประเมินความรับรู้ และการมีส่วนร่วมของพนักงานในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในจรรยาบรรณทางธุรกิจ

·        บริษัทต้องจัดทำกระบวนการตรวจติดตามภายในเพื่อประเมินความมีประสิทธิผลของการดำเนินการตามจริยธรรมทางธุรกิจและสัญญาที่รับผิดชอบต่อลูกค้าและความรับผิดชอบต่อสังคม

·        บริษัทต้องดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามความบกพร่องที่ตรวจติดตามพบทั้งจากภายในและภายนอก

·        บริษัทต้องจัดทำเอกสาร บันทึก และรายงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณทางธุรกิจ การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเก็บรักษาเป็นความลับให้เหมาะสม

หมวดที่ 5   หลักจริยธรรม

แนวทางปฏิบัติ

·        บริษัทต้องยึดหลักคุณธรรมในการประกอบธุรกิจ และปกป้องมิให้เกิดการดำเนินธุรกรรมต่างๆที่มีรูปแบบของการทุจริต การรีดไถ ข่มขู่ การยักยอกทรัพย์ หากพบการประพฤติดังกล่าวจะต้องได้รับบทลงโทษตามกฎหมายหรือระเบียบวินัยของบริษัทอย่างเคร่งครัด

·        บริษัทต้องไม่ประพฤติการติดสินบนหรือการกระทำอื่นใดเพื่อสร้างความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมต่อลูกค้า คู่แข่ง คู่ค้าหรือหน่วยงานภาครัฐ

·        การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสสามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมตามกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจ

·        บริษัทต้องเคารพสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย

·        บริษัทต้องดำเนินธุรกรรมการแข่งขันทางการค้าอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม การโฆษณาประชาสัมพันธ์ต้องดำเนินการอย่างเหมาะสม รวมถึงการปกป้องข้อมูลของลูกค้าต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย

·        บริษัทต้องดำเนินการปกป้องคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลที่เปิดเผยความทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างเคร่งครัด

·        บริษัทต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมกับชุมชน ส่งเสริมความสัมพันธ์ของสังคม เพื่อช่วยพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง

 

ผู้เขียนสรุปแนวทางปฏิบัติของ EICC เพื่อให้ผู้สนใจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นำไปปรับปรุงตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนรับทราบว่าบางบริษัทชั้นนำทางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์พยายามผลักดันให้คู่ค้าทางธุรกิจดำเนินการตามแนวปฏิบัติอย่างเข้มงวดที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อผลประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ พูดง่ายๆ คือ “ต้นทุนเพิ่ม กำไรหด” นั่นเอง ดังนั้น ผู้เขียนแนะนำให้ทำเท่าที่ความสามารถของท่านพึงกระทำได้ก่อน ข้อใดทำไม่ได้ค่อยๆปรับปรุงต่อไป ข้อใดทำได้ก็รักษามาตรฐานการทำงานไว้ โปรดอย่าลืมว่า ท่านต้องกำหนดมาตรการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องด้วยนะครับ

*****End of Article*****

               

 

ผู้ชม 4,579 วันที่ 03 เมษายน 2554