การจูงใจพนักงาน (ทฤษฎีและปฏิบัติ) เพื่อสร้างความพึงพอใจในงาน
(ตอนที่ 2/2 )
ปิยะชัย จันทรวงศ์ไพศาล
[email protected], [email protected]
เมื่อการจูงใจพนักงานไม่ใช้เงิน แล้วควรจะทำอย่างไรให้จูงใจพนักงานทำงานกับองค์กรต่อไป มีอีกทฤษฎีหนึ่งที่เข้ามาตอบโจทย์เรื่องนี้ คือ เราจะใช้ทฤษฎีปัจจัยคู่ของเฮอร์สเบอร์ก (Herzberg’s Dual Factor Theory) ซึ่งอธิบายว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจในงาน (Job satisfaction) นั้นมาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ
· ปัจจัยสุขอนามัย (Hygiene factor)
· ปัจจัยจูงใจ (Motivators factor)
ปัจจัยสุขอนามัย (Hygiene factor) เป็นปัจจัยที่องค์กรพึงมีเพื่อเป็นการจูงใจขั้นต้นให้พนักงานพึงพอใจในงาน แต่ปัจจัยนี้มิใช่ เป็นเรื่องสวัสดิการแต่เพียงอย่างเดียวครับ ปัจจัยสุขอนามัยได้แก่
· ค่าจ้างและสวัสดิการ
· สภาพการทำงาน
· ความมั่นคงในงาน
· การควบคุมบังคับบัญชา
· ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
· นโยบายและการบริหารงานขององค์กร เป็นต้น
ปัจจัยจูงใจ (Motivators factor) เป็นปัจจัยจูงใจให้พนักงานอยากทำงานให้กับองค์กรด้วย และเป็นปัจจัยที่ผู้บริหารต้องใช้ความสามารถภาวะผู้นำ (leadership) อย่างเข็มแข็งครับ ปัจจัยจูงใจได้แก่
· ความสำเร็จ
· การได้รับการยอมรับ
· ความก้าวหน้าในงาน
· ความเติบโตในหน้าที่การงาน
· ความรับผิดชอบ เป็นต้น
ปัจจัยคู่ของเฮอร์สเบอร์ก จึงเป็นคำตอบที่ตอกย้ำว่า การให้ผลตอบแทนด้วยเงิน ไม่ว่าจะให้เงินเดือนสูงๆ หรือ สวัสดิการดีๆ หรือ โบนัสมาก ไม่ใช่เป็นการจูงใจให้พนักงานอยู่ร่วมงานกับองค์กรแต่เพียงอย่างเดียวเลยครับ ปัจจัยด้านความก้าวหน้าในงาน, ความสำเร็จ, ความรับผิดชอบ, ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัยร่วมกันในการจูงใจพนักงานทำงานร่วมกับองค์กร และนี่คือบทบาทของผู้บริหารที่จะดึงทักษะความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการมาใช้อย่างเต็มที่ครับ เราจึงไม่แปลกใจเลยครับที่พบว่า บางคนจบการศึกษาสูงๆ ได้รับเงินเดือนมากๆ แต่ก็ยังลาออก สาเหตุสั้นๆคือ “ร่วมงานกับหัวหน้าไม่ได้” หรือ “เบื่องาน ไม่ท้าทาย” เป็นต้น
“การได้รับความเป็นธรรมในการทำงาน” เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถจูงใจให้พนักงานร่วมงานกับองค์กรได้ต่อไป เป็นการจูงใจตามทฤษฎีความเสมอภาค(Equity Theory of Motivation) ของ Stacy Adams แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ทำงานเหมือนกัน ความรับผิดชอบเหมือนกัน ต้องได้รับผลตอบแทนเท่ากันนะครับ ใครทำงานดี ทำงานเก่ง ก็ควรได้รับผลตอบแทนตามความสามารถนั้น ตรงนี้ คือ การเปลี่ยนวิธีการจ่ายผลตอบแทนให้เป็นแบบ “การจ่ายตามผลงาน (Performance-based pay)” ท่านผู้อ่านคิดว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเปลี่ยนวิธีการจ่ายผลตอบแทนใหม่ครับ
ในท้ายที่สุด ผู้เขียนขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการจูงใจพนักงานแก่ผู้บริหารเป็นแนวคิดว่า “หากเราคิดจะจับปลา ก็ต้องคิดอย่างปลา ว่าปลานั้นชอบสภาพแวดล้อมใด ก็จะไปอยู่ ณ บริเวณนั้น เราก็จะสามารถจับปลาได้มาก” เช่นเดียวกัน ผู้บริหารลองไม่เอาความคิดของตนเป็นใหญ่ แล้วคิดไปเองว่าพนักงานไม่รักองค์กร พนักงานคิดแต่เรื่องเงินเป็นหลัก โดยปรับแนวคิดใหม่ว่า ถ้าเราเป็นพนักงาน เราต้องการได้อะไรจากองค์กรและ เราควรจะทำอะไร เพื่อให้องค์กรให้สิ่งที่เราคาดหวัง ผู้บริหารต้องลงจาก”หอคอย” มาสัมผัส “ความจริง”ที่พื้นล่าง หลังจากนั้นผู้บริหารควรคิดย้อนกลับไปวางแผนยุทธศาสตร์ต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างให้จูงใจพนักงานอยู่ทำงานร่วมกับเราต่อไปครับ
*****End of Article*****
ผู้ชม 4,806 วันที่ 17 มกราคม 2554