มีกฎหมายหลายฉบับครับที่ให้สถานประกอบการจัดให้มีการตรวจสุขภาพของพนักงาน อาทิเช่น
• ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพลูกจ้างและแบบรายงานผลการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย
• กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ. 2547
• ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดสารเคมีอันตรายที่ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง พ.ศ. 2552
• พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2553
• พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
• ประกาศกรม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง สัญลักษณ์เตือนอันตราย เครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และข้อความแสดงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง พ.ศ. 2554
• ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพและจัดทำบัตรตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงานประดาน้ำ พ.ศ. 2553
• ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๔๔๐๙ ( พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑ เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แนวปฏิบัติการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงด้านเคมีและกายภาพจากการประกอบอาชีพในสถานประกอบกิจการ
จากกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ. 2547 ประกอบกับคำชี้แจงกระทรวงแรงงาน เรื่อง กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ. 2547 กำหนดคำนิยามของการตรวจสุขภาพพนักงานว่า
การตรวจร่างกายและสภาวะทางจิตใจตามวิธีทางการแพทย์เพื่อให้ทราบถึงความเหมาะสม และผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างอันอาจเกิดจากการทำงาน โดยพิจารณาจากการทำงานตามปัจจัยเสี่ยง ซึ่งหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของพนักงานที่ทำงานประจำในสำนักงานจะอ้างอิงในข้อ (๔) ความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน ความกดดันบรรยากาศ แสง เสียง หรือสภาพแวดล้อมอื่นที่อาจเป็นอันตราย โดยทั่วไปก็เป็นการตรวจสุขภาพด้านสายตา, สมรรถการได้ยิน, สมรรถนะของปอดและระบบหายใจ เพราะทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น บางแห่งที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเคมี ก็จะเพิ่มการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เพิ่มเติม แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ฝ่ายนายจ้างอาจจะให้ลูกจ้างออกค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพที่นอกเหนือปัจจัยเสี่ยงเองได้ เช่น การตรวจเบาหวาน, การตรวจคอเลสเตอรอล, HDL, LDL เป็นต้น เพราะถือว่าเป็นการตรวจนอกเหนือปัจจัยเสี่ยง แต่เพื่อสุขภาพของพนักงานเอง สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพของพนักงานตามปัจจัยเสี่ยงนั้นย่อมตกเป็นภาระของนายจ้างครับ ตามคำชี้แจงกระทรวงแรงงาน เรื่อง กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ. 2547 ที่สรุปตอนท้ายว่า “ในการจัดให้มีสมุดสุขภาพประจำตัวของลูกจ้าง การตรวจสุขภาพของลูกจ้างเมื่อแรกรับตรวจสุขภาพเมื่อเปลี่ยนงานที่มีอันตรายแตกต่างไปจากเดิม และการตรวจสุขภาพประจำปี รวมทั้งการดำเนินการใด ๆ ตามกฎกระทรวงนี้ให้นายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย”
|